กลุ่มรักม้าโคราช ยื่นหนังสือจี้พ่อเมืองเร่งขั้นตอนนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ม้าทยอยตายทุกวัน ล่าสุดตายรวม 272 ตัว
กลุ่มรักม้าโคราช ยื่นหนังสือจี้พ่อเมืองเร่งขั้นตอนนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ม้าทยอยตายทุกวัน ล่าสุดตายรวม 272 ตัว
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 เมษายน ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 12 จังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะเจ้าของเขตพื้นที่ อ.ปากช่อง ซึ่งเกิดโรคกาฬโรคแอฟริกา ในม้าแพร่ระบาดอย่างรุนแรง พร้อมนายสุนทร สุวรรณชาติ อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมาและนายสัตวแพทย์ชวลิต วงศ์เลิศวิริยะกิจ สัตวแพทย์ประจำฟาร์ม เค.เค.ปากช่อง เดินทางมายื่นหนังสือกับนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล ผวจ.นครราชสีมา เรื่องปัญหาโรคระบาดกับม้าในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
นายสุนทร อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า วันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าได้เริ่มแพร่ระบาดในเขต อ.ปากช่อง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเพาะพันธุ์ม้าแข่งชื่อดังของประเทศไทย ส่งผลให้ม้าแข่งชื่อดังในอดีตและปัจจุบันรวมทั้งลูกม้าแข่งในฟาร์มม้าแข่ง 23 แห่ง นอกจากนี้ยังมีม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางและม้าของโรงแรม รีสอร์ตที่ให้นักท่องเที่ยวขี่เล่นทยอยล้มป่วยเฉียบพลัน มีอาการไข้สูง ขอบตาบวมแดง หน้าตาบวมหายใจติดขัดเสียงดังเกร็งและตายในเวลา 24-48 ชั่วโมง จนถึงขณะนี้ยังมีม้าตายอย่างต่อเนื่อง รวมจำนวน 272 ตัว สร้างความสูญเสียหลายสิบล้านบาท
การประกาศให้ท้องที่ทุกแห่งในจังหวัดนครราชสีมาเป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ชนิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ห้ามเคลื่อนย้ายหรือซากสัตว์ชนิด ม้า ลา ล่อและอูฐ เมื่อวันที่ 7 เม.ย และลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือดรวมทั้งสร้างความรับรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าว แต่ก็ยังมีม้าตายเฉลี่ยวันละ 5-6 ตัว แนวทางป้องกันเช่นนี้ไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ กลุ่มผู้รักม้าโคราชจึงรวมตัวมายื่นหนังสือขอให้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เร่งหาทางช่วยเหลือ โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ซึ่งรับผิดชอบโดยตรง ต้องมีความชัดเจนในการป้องกันและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มิใช้มาพูดให้คำแนะนำและนำหญ้าแห้งมาให้เท่านั้น มิเช่นนั้นการแพร่ระบาดของโรคอาจขยายวงลุกลามไปเรื่อยๆ
ที่ผ่านมาฟาร์มม้า 110 แห่ง ม้าจำนวน 1,455 ตัว รับผลกระทบเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สนามม้าแข่งจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประกาศปิดสนามถาวรและต้นเดือน มีค. จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลมีคำสั่งปิดสนามม้าแข่งในกรุงเทพ โคราชและอุดรธานี ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการม้าแข่งกว่า 500 ตัว ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายประกอบด้วยค่าแรงคนเลี้ยงม้า ค่าอุปกรณ์อาหาร-วิตามินยาบำรุง เกือกม้า และค่าฝึกซ้อมเฉลี่ยเดือนละประมาณ 17,000– 20,000 บาทต่อตัว ซึ่งคอกม้าชื่อดังในโคราช ได้ประกาศขายม้าแข่งแต่ก็ไม่มีใครติดต่อซื้อแต่อย่างใด หากไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม ธุรกิจเกี่ยวกับม้าทุกประเภทในประเทศไทย อาจต้องล้มเลิกโดยปริยาย จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญ การป้องกันดีที่สุดต้องใช้วัคซีน ขณะนี้ติดปัญหาอยู่บางหน่วยงาน จึงมาร้องขอให้ ผวจ.นครราชสีมา หาทางช่วยเหลือ เยียวยาความเดือดร้อนและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคระบาดตามหลักวิชาการให้ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
นายสัตวแพทย์ชวลิต ฯ สัตวแพทย์ประจำฟาร์ม เค เค ปากช่อง กล่าวว่า พบม้าล้มป่วยตัวแรกเมื่อวันที่ 29 มีค. จากนั้นก็ทยอยป่วยและตายมาเรื่อยๆ เฉพาะฟาร์มเค เค มีม้าตายทั้งสิ้น 41 ตัว ตามหลักการแพทย์หากม้าป่วยเป็นโรคนี้มีโอกาสตาย 95 % แม้นรอดตายก็เป็นม้าขี้โรคหรือม้าพิการมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ขณะนี้ “โคลเพลย์” พ่อม้าแข่งสายเลือดเยี่ยมและยอดนิยมในขณะนี้ ซึ่งให้ผลผลิตลูกม้าสายเลือดโคลเพลย์จำนวนหลายร้อยตัว ราคาซื้อขายลูกม้าตัวละ 5 แสนบาท และดังที่สุด “ม้าพี่ใหญ่” คอกชบาทิพย์ ม้าแข่งไทยที่ชนะทุกสนามและทุกระยะของนายทหารระดับบิ๊กใน ครม. ฟาร์มได้ให้การดูแลเป็นอย่างดีจัดคนเลี้ยงนอนเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง ล่าสุดยังมีสุขภาพ แข็งแรง
นายศิรสิทธิ์ ส.ส เขต 12 จ.นครราชสีมา พท. กล่าวว่า หากสภาผู้แทนราษฎรเปิดการประชุม คาดเป็นช่วงต้นเดือนหน้า ตนจะเร่งนำปัญหานี้เข้าสู่วาระการประชุม เพื่อให้เร่งรัดขั้นตอนการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคที่มีขั้นตอนผ่านคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย) มิเช่นนั้นม้าใน อ.ปากช่อง จะตายไปเรื่อยๆ ซึ่งยังไม่มีท่าทีโรคจะหยุดการแพร่ระบาดแต่อย่างใด
ด้านนายจรัสชัย ฯ รอง ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า จะเร่งนำปัญหาเสนอให้ ผวจ.นครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับทราบ เพื่อหาทางช่วยเหลือ
อำนาจ อภัยภักดี ข่าวภาพนครราชสีมา