ผบ.ฉก.ทพ.31 ร่วมพิธีเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้า เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดสุดท้ายจาก 5 จังหวัดชายแดน

ผบ.ฉก.ทพ.31 ร่วมพิธีเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้า เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดสุดท้ายจาก 5 จังหวัดชายแดน

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 พันเอก สุทธิ์เขตต์ ศรีนิลทิน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 31 พร้อมด้วยกำลังพลกองร้อยทหารพรานที่ 3103 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 31 ร่วมกับ อำเภอเชียงแสน, หัวหน้าส่วนราชการ ,สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 , บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน, สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ, สมาคมส่งเสริมการบริษัทจังหวัดเชียงราย, ด่านกักกันสัตว์เชียงรายสาขาเชียงแสน เข้าร่วมพิธีเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ เพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรคของยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์เข้าสู่ประเทศ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยมี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธาน ณ บริเวณด่านกักกันสัตว์เชียงราย สาขาเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมี นายวิรัตน์ ตันหยง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวมอบศูนย์ดังกล่าว พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและเป็นสักขีพยาน โอกาสนี้ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 31 ได้ร่วมปลูกต้นรวงผึ้งเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ด้วย

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาคการปศุสัตว์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ กำลังได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของโรคนี้ แต่นับว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ หรือยานพาหนะที่ใช้บรรทุกนำเข้า-นำผ่าน-นำออกประเทศไทย อีกทั้ง ยังรวมถึงจากผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินำติดตัวเข้ามา ซึ่งอาจจะปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ประเทศ หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ของประเทศไทยอย่างมาก และมีผลกระทบด้านสังคมและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศด้วย เนื่องจากโรคดังกล่าว เป็นโรคไวรัสที่ระบาดในสุกรอย่างรุนแรงและรวดเร็ว หากสุกรติดโรคแล้วจะทำให้สุกรตายทุกตัว เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ รวมถึงเชื้อโรคมีขนาดใหญ่จึงตายยาก สามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือซากสัตว์ได้นานหลายเดือน แต่เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนผู้บริโภคจึงไม่ต้องกังวล

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ มีภารกิจหลักในการดูแลเรื่องสุขภาพสัตว์และผลผลิตด้านปศุสัตว์ของประเทศไทย เพื่อให้ได้ผลผลิตด้านการปศุสัตว์ที่เพียงพอ มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในการส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันโรค อหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อป้องกันการระบาดเข้าสู่ประเทศไทย โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF ในสุกร ทั้งระดับกรมและระดับจังหวัด ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเกษตรกรทราบถึงอันตรายและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากเกิดการระบาดของโรคนี้ ตรวจเยี่ยมฟาร์มสุกรทุกฟาร์มและให้คำแนะนำเพื่อปรับระบบการเลี้ยงสัตว์ให้มีระบบป้องกันโรคที่ดีประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวต่างชาติ มิให้นำผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ติดตัวเข้ามาประเทศไทย ตรวจสอบและทำลายผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่นำติดตัวเข้ามา เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสินค้าปศุสัตว์ที่นำเข้า นำผ่าน นำออกตามด่านพรมแดนทุกแห่งของประเทศไทย และเตรียมความพร้อมให้มีระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดสุดท้ายจากจังหวัดชายแดน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร สระแก้ว และจังหวัดเชียงราย ที่จัดทำพิธีส่งมอบและเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ASF ในสุกรเข้าประเทศไทยได้