อึ้ง!!! เขตการศึกษาจับมือธนารักษ์ ตัดไม้พะยูง ในโรงเรียน 22 ต้น อ้างหาเงินเข้าหลวง
อึ้ง!!! เขตการศึกษาจับมือธนารักษ์ ตัดไม้พะยูง ในโรงเรียน 22 ต้น อ้างหาเงินเข้าหลวง
สุดเย้ยคดีลักไม้พะยูง ยังไม่จบ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมธนารักษ์ และป่าไม้ อนุญาต ให้นายหน้าค้าไม้พะยูง ตัดไม้ในโรงเรียนรวดเดียว 22 ต้น ในราคา 1 แสนบาท ต่ำกว่าราคาซื้อขายไม้ยูคา ขณะที่มีรายงานเสียงเลื่อยยนต์ดังก้องคำรามตัดไม้พะยูงอายุเกือบร้อยปี ครู นักเรียน ชาวบ้านร่ำไห้แสนเสียดายตัดไม้หนูทำไม ด้านผู้ว่าเต้นส่งนายอำเภอสอบสวน เรียกร้อง สตง., ปปช., ปปท. ตรวจสอบ และดีเอสไอ บรรจุเป็นคดีพิเศษด้วย
วันที่ 18 สิงหาคม 2566 ที่ว่าการอำเภอหนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ นายจารุวัตร ภูแก้ว นายอำเภอหนองกุงศรี พร้อมด้วย พ.ต.ท.กชฐพงศ์ ศรียางค์ สวป.สภ.หนองกุงศรี และนายกเทศมนตรีตำบลคำก้าว ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณโรงเรียนคำไฮวิทยา หลังได้รับแจ้งมีการตัดไม้พะยูงตั้งแต่เมื่อวานนี้ (17 ส..ค.66) และถูกขนย้ายไปตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา เบื้องต้นจากการตรวจดูเอกสาร เป็นการจัดซื้อจัดขายไม้พะยูงกับเอกชนรายหนึ่ง กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 2 ในราคา 153,000 บาท จากการขายไม้พะยูง 22 ต้น
นายจารุวัตร ภูแก้ว นายอำเภอหนองกุงศรีกล่าวว่า กรณีตัดไม้ดังกล่าว ตนเพิ่งทราบจากชาวบ้านเมื่อวานนี้ (17 ส.ค.66) จึงได้รายงานนายธวัชชัย รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์ ก่อนที่ทางจังหวัดโดยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ จะได้สั่งการให้ตนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สภ.หนองกุงศรี ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และชาวบ้าน ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง จากนั้นลงพื้นที่สำรวจบริเวณที่มีการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา
นายจารุวัตร ภูแก้ว นายอำเภอหนองกุงศรีกล่าวว่า จากการดูข้อมูลกับครูโรงเรียนคำไฮวิทยา ทราบว่าการตัดไม้พะยูงดังกล่าว มีการตกลงให้นายทุนเข้ามาประมูลซื้อ โดยการรับรองของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 2 ร่วมกับโรงเรียนคำไฮวิทยาและธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ซึ่งในเอกสารระบุประมูลซื้อขายไม้พะยูงจำนวน 22 ต้น ในราคา 153,000 บาท ซึ่งตัดไปแล้ว 17 ต้น เหลือ 5 ต้น ทั้งนี้ ได้สั่งชะลอการตัดไว้ก่อน เนื่องจากมีชาวบ้านเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ ส่วนประเด็นที่มีการพูดกันมาก เป็นในส่วนของความเหมาะสม และเหตุผลในการขออนุญาตตัด รวมทั้งการประเมินราคา ก็จะมีการตรวจสอบในเชิงลึกในลำดับต่อไป
ด้านนายอภิวัฒน์ ราชาพัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านคำไฮ หมู่ 11 กล่าวว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เคยมีเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวน ลักลอบเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียน 4 ครั้ง 2 ครั้งแรกไม่ได้ไม้พะยูงไป ครั้งที่ 3 ได้ไม้พะยูงไป 1ต้น และครั้งที่ 4 เมื่อเดือน พ.ค.66 ที่ผ่านมา คนร้ายไม่ได้ไม้พะยูงไป
ทั้งนี้ทุกครั้งหลังเกิดเหตุ ผู้นำชุมชนก็จะมาอยู่เป็นเวรยามเฝ้าไม้พะยูงภายในโรงเรียนกับครูเวร แต่คนร้ายก็ฉวยโอกาสในคืนฝนตกเวลากลางดึก เข้ามาก่อเหตุซ้ำอีก ซึ่งถือเป็นภาระรับผิดชอบและความเดือดร้อนของผู้นำชุมชน ที่ต้องหวาดระแวง หวั่นเกิดอันตราย จากการมาเข้าเวรเฝ้าไม้พะยูง เนื่องจากทราบว่าคนร้ายที่เข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูง มาหลายคนและมีอาวุธ อย่างไรก็ตาม จากการขายไม้พะยูงจำนวน 22 ต้น ราคา 153,000 บาท โดยมะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และธนารักษ์มาเป็นคนประเมินราคา ตนคิดว่าเป็นราคาขายที่ต่ำ ไม่ค่อยจะเหมาะสมกับปริมาตรไม้นัก กับจำนวนไม้ 1 รถบรรทุก และรถกระบะต่อโครงสูงอีก 1 คัน
อย่างไรก็ตาม จากการเดินสำรวจดูทำเล ก็ไม่ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายกับตัวอาคาร หรือครู นักเรียน หากมีการหักโค่นลงมาด้วยภัยธรรมชาติ เนื่องจากมีจัดเป็นโซนปลูกเป็นสวนต้นไม้เศรษฐกิจทางเข้าประตูโรงเรียน มีไม้พะยูง ไม้ประตู่ ที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินอื่นใดของทางราชการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ จากการขายไม้พะยูง 22 ต้น ลำเลียงขึ้นรถบรรทุก 2 คันดังกล่าว บุคคลในวงการค้าไม้บอกว่าเป็นราคาที่ถูกจนน่าตกใจ เรียกว่าถูกกว่าไม้ยูคาก็ว่าได้ ถือเป็นการขายไม้พะยูงเที่ยวนี้แบบดั้มพ์ราคาทีเดียว จึงอยากเรียกร้อง สตง., ปปช., ปปท. เข้าตรวจสอบ เส้นทางการค้าไม้พะยูงของโรงเรียนคำไฮวิทยาว่า ถูกต้อง เหมาะสม โปร่งใส รัฐได้ประโยชน์จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอยากเรียกร้องให้ดีเอสไอ บรรจุเป็นคดีพิเศษด้วย เพราะการอนุญาตขายไม้ในพื้นที่ของกรมธนารักษ์ มีการเปิดประมูลขายหลายครั้งมาก จนชาวบ้าน ครูและเด็กนักเรียน ที่ได้ยินเสียงเลื่อยยนต์ตัดไม้พะยูงอายุเกือบ 100 ปีน้ำตาซึมไหล รู้สึกเจ็บปวดหัวใจ และแสนเสียดาย เพราะไม่อยากให้มีการขายไม้พะยูงในโรงเรียน ที่รุ่นพ่อรุ่นแม่เคยปลูกไว้ให้ความร่มรื่นและเป็นสมบัติของแผ่นดิน