สมาชิกวุฒิสภาบรรยายพิเศษ หลักสูตรจิตอาสา 904 พระราชทาน 14 จังหวัดภาคใต้ ณ จังหวัดนราธิวาส รุ่นที่ 3/66 (ครั้งที่ 2)

สมาชิกวุฒิสภาบรรยายพิเศษ หลักสูตรจิตอาสา 904 พระราชทาน 14 จังหวัดภาคใต้ ณ จังหวัดนราธิวาส รุ่นที่ 3/66 (ครั้งที่ 2)

วันที่ 14 กันยายน 2566 หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา, รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์, รองประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา บรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการพัฒนาประเทศ” ให้แก่ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 “หลักสูตรพื้นฐาน” (ภาค 4) รุ่นที่ 3/66( ครั้งที่ 2) จัดโดย ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 4 ณ ศูนย์ฝึกจิตอาสาภาค 4 กองพลนาวิกโยธิน ค่ายจุฬาภรณ์ บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส

หม่อมหลวงปนัดดา กล่าวในความตอนหนึ่งว่า : “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุข และทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ทั้งนี้ ในอีกฐานความคิดหนึ่งที่มีความสอดคล้องกันในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคจะมีความชัดเจน คือ จังหวัดทั้ง 76 จังหวัด มีศักยภาพที่แตกต่างหลากหลายไม่เหมือนกัน ที่มิได้หมายถึงความมีประสิทธิภาพหรือด้อยประสิทธิภาพทางการบริหาร แต่มีที่มาจากหลายปัจจัยทั้งในด้านภูมิสังคม ภูมิประเทศ วัฒนธรรมประเพณี ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยด้านความเจริญทางวัตถุหรือความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่หากมีขึ้นกับบางพื้นที่มากเกินไปอาจกลายเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนและนำมาซึ่งความเสียหายต่อสภาพสังคม วัฒนธรรมประเพณี และเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นได้ จังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจน้อยกว่าจึงต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางมาดูแลในอัตราส่วนที่มากกว่าจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจดีกว่า

ดังนั้น การน้อมนำแนวพระราชดำรัส พระบรมราชปณิธาน พระราชจริยวัตร หลักทศพิธราชธรรม หลักการทรงงาน ฯลฯ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันได้แก่ ความกตัญญูกตเวที, ความซื่อสัตย์สุจริต, ความพอเพียง, ความอ่อนน้อมถ่อมตน, ความเพียร, ความเสียสละและอดทน, ความรู้รักสามัคคี, เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา, การดำรงตนตามหลักการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดีด้วยหัวใจ และการทำความดีเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ฯลฯ จะเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในฐานะพลเมืองที่ดีและการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามหลักศีลธรรม หลักธรรมาภิบาล และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อการดำรงความเป็นชาติไทยที่มีความมั่นคงเข้มแข็ง มีความเจริญรุ่งเรือง และประชาชนมีความร่มเย็นเป็นสุข”