พะเยา…องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ตรวจเยี่ยมและติดตามงานในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหลวงปังค่า อ.ปง จ.พะเยา

พะเยา…องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ตรวจเยี่ยมและติดตามงานในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหลวงปังค่า อ.ปง จ.พะเยา

วันที่ 19 ก.ค.62 เวลา 12.20 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ตรวจเยี่ยม และติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหลวงปังค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา โดยมีนายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยนายอำเภอปง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหลวงปังค่ารายงานผลการดำเนินงาน
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2530 ในพื้นที่ตำบลผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา โดยมูลนิธิโครงการหลวงได้ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน จัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่เกษตรกร และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกไม้ผลและพืชผักเขตหนาวในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านสิบสองพัฒนา บ้านปางค่าใต้ และบ้านปางค่าเหนือ จนกระทั้งปี พ.ศ.2559 องค์การบริหารส่วนตำบลผาช้างน้อยได้เล็งเห็นว่าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ดำเนินการส่งเสริมอาชีพได้ผลเป็นอย่างดี เกษตรกรในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงได้ทำหนังสือถึงมูลนิธิโครงการหลวงขออนุญาต ขยายเขตพื้นที่ส่งเสริมอาชีพการเกษตรเพิ่มอีก 4 หมู่บ้าน ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า จึงมีพื้นที่ส่งเสริมในความรับผิดชอบทั้งหมด 7 หมู่บ้านรวม 1,324 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 5,445 คน เป็นชาวม้ง และฮิ้วเมี่ยน
การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ได้มุ่งเน้นพัฒนาด้านการปลูกพืชผักภายใต้โรงเรือน และไม้ผลเขตร้อน โดยได้ให้ความสำคัญในการพัฒนา และส่งเสริมเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ผลผลิตหลัก ได้แก่ พริกหวาน มะเขือเทศ คะน้าฮ่องกง แตงกวาญี่ปุ่น องุ่น อาโวคาโด เสาวรส เคพกูสเบอร์รี และเมล่อนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยได้เริ่มส่งเสริมการปลูกเมล่อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยปลูกภายใต้โรงเรือนในระบบที่ใช้วัสดุปลูกแทนดิน (Substrate Culture System) ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพสูง ให้ผลผลิตระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนตุลาคม ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกเมล่อนญี่ปุ่น จำนวน 33 ราย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรต่อรายต่อโรงเรือนประมาณ 30,000-40,000 บาท

นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ยังได้สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น โครงการหมู่บ้านสะอาด หมู่บ้านปลอดยาเสพติด การพัฒนายุวเกษตรกร ส่งเสริมการฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มีการอนุรักษ์ดิน และน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก รณรงค์การลดการใช้สารเคมี และเฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของคน และชุมชน ส่งเสริมการอนุรักษ์งานหัตถกรรมชนเผ่าฮิ้วเมี่ยน ที่มีความโดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ สร้างรายได้นอกภาคการเกษตร ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้อีกช่องทางหนึ่ง จากนั้นองคมนตรีได้ร่วมปลูก “ต้นรวงผึ้ง”ต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 ภายในบริเวณพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ก่อนเดินทางกลับ…