ข้าว กข.43 By HappyCenter บทความน่ารู้ ตอนที่ 2
จากบทความตอนที่แล้ว เราสามารถแบ่งข้าวออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ข้าวเจ้า และข้าวเหนียว โดยแบ่งตามลักษณะของเนื้อในเมล็ด ซึ่งข้าวเจ้าประกอบด้วยอะมิโลส ร้อยละ 15-30 และข้าวเหนียวมีแป้งอมิโลสร้อยละ 5-7
ทั้งนี้ข้อมูลจากมูลนิธิชัยพัฒนาได้จำแนกชนิดของข้าวตามสภาพพื้นที่การเพาะปลูกไว้ 3 ประเภท คือ
1.ข้าวไร่ Upland rice เป็นข้าวที่ปลูกได้ทั้งบนที่ราบและที่ลาดชัน นิยมปลูกกันมากในบริเวณที่ราบสูงโดยไม่ต้องใช้น้ำมากตามไหล่เขาทางภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เนื้อที่เพาะปลูกไม่มากนัก มีเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ปลูกทั่วประเทศเท่านั้น
2.ข้าวนาสวน หรือนาดำ Lowland rice สามารถปลูกในที่ลุ่มทั่วไปในสภาพที่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวตั้งแต่ปลูกจนกระทั่งก่อนเก็บเกี่ยว ข้าวนาสวนนิยมปลูกกันมากแทบทุกภาคของประเทศ เนื้อที่การเพาะปลูกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั่วประเทศ
3.ข้าวขึ้นน้ำ หรือข้าวนาเมือง Floating rice เป็นข้าวที่เพาะปลูกในแหล่งที่ไม่สามารถรักษาระดับน้ำได้ จึงต้องใช้ข้าวพันธุ์พิเศษที่เรียกว่า ข้าวลอย หรือข้าวฟ่างลอย ส่วนมากปลูกแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี พิจิตร อ่างทอง ชัยนาท และสิงห์บุรี มีเนื้อที่การเพาะปลูกไม่มาก ประมาณร้อยละ 10 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ
โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้แบ่งชนิดข้าวไว้ตามฤดูกาลการปลูกไว้ 2 ประเภท คือ
1.ข้าวนาปี หรือข้าวนาน้ำฝน คือข้าวที่ปลูกในฤดูการทำนาปกติ จึงใช้ภาษาอังกฤษตรงตัวคำว่า in-season rice โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม และเก็บเกี่ยวสิ้นสุดไม่เกินกุมภาพันธ์
2.ข้าวนาปรัง คือ ข้าวที่ปลูกนอกฤดูการทำนาปกติ ภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า off-season rice คือเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม นิยมปลูกในพื้นทื่ที่มีการชลประทานที่ดี เช่น ในภาคกลาง เป็นต้น
ในคราวต่อไปจะแนะนำสายพันธุ์ข้าวที่นิยมรับประทาน ทั้งข้าวที่มีขายในตลาดทั่วไป และข้าวตลาดเฉพาะที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องของการดูแลสุขภาพโดยการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดีต่อสุขภาพร่างกาย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ
“Living healthy to by HAPPY”
เรียบเรียงโดย ไอย์สุธา