กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการบริหารงาน การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ณ เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการบริหารงาน การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ณ เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เดินทางลงพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ โดย พลตำรวจโท สาคร ทองมุนี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ได้มอบหมายให้ รศ.ดร. วิชัย กาญจนสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และคณะผู้บริหาร ตลอดจนสมาชิกสภาเทศบาลนครหาดใหญ่เขต 1 – เขต 4 ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายสรุปในประเด็นสำคัญดังนี้
1. เทศบาลนครหาดใหญ่มียุทธศาสตร์การพัฒนา ดังนี้
1) การพัฒนาการศึกษา การพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการกีฬา
2) ดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาการบำบัดน้ำเสีย
3) ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรือง
4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยพัฒนาปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบการขนส่งและวิศวกรรมจราจร และการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย
2. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เทศบาลนครหาดใหญ่ได้จัดทำระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการดำเนินการจัดเก็บภาษีและอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี โดยเพิ่มช่องทางการชำระภาษีในรูปแบบออนไลน์ด้วยระบบ QR Payment รวมทั้งได้พัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (HY -TAX) เพื่อใช้คำนวณภาษี
3. เทศบาลนครหาดใหญ่ ดำเนินโครงการหาดใหญ่เมืองอัจฉริยะสีเขียวโดยได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะไว้ 7 ด้าน คือ
1) Smart Environment ดำเนินการจัดทำระบบติดตามสภาพและแจ้งเตือนด้านสิ่งแวดล้อมของเมือง และลดขยะภาคครัวเรือน
2) Smart Energy การเพิ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในภาคขนส่งสาธารณะ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด ลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม
3) Smart Economy การพัฒนา “คลองเตยลิ้งค์” เพื่อฟื้นฟูคลองเตยให้สามารถเชื่อมโยงแพลตฟอร์มในการจัดทำย่านนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

4) Smart Governance เทศบาลนครหาดใหญ่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกด้านการบริการสาธารณะมากขึ้น
5) Smart Mobility พัฒนาเส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะ (Smart Bus) รอบเขตเทศบาล โดยจะนำรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามาให้บริการ
6) Smart People ได้จัดทำพื้นที่เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งใหม่ของเมืองหาดใหญ่
7) Smart Living เพิ่มประสิทธิภาพของกล้อง CCTV
โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพื่อดูแลความปลอดภัยของเมือง และเป็นแหล่งข้อมูล
ที่ให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าใช้งานตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล การบริหารจัดการข้อมูล

ในท้ายนี้ พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ได้ให้ข้อสังเกต 3 ประการ คือ 1. เทศบาลนครหาดใหญ่ควรเพิ่มพื้นที่เขียวโดยการปลูกต้นไม้ใหญ่ 2. การอยู่ร่วมกันของสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนา เทศบาลนครหาดใหญ่ควรจัดให้มีกิจกรรมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้นำแต่ละกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน และ 3. ขอให้ทางเทศบาลได้ตรวจสอบการคิดประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2565 และ 2566 ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ 2564 ที่ได้ปรับปรุงอัตราภาษีใหม่ ให้เป็นไปเหมือนปีที่ 1 และปีที่ 2 ของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อลดภาระการเสียภาษีของประชาชน