เทศบาลเมืองลำพูน จัดงานทำบุญประจำปี เนื่องในวันคล้ายวันเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระนางเจ้าจามเทวี ศรีหริภุญชัย “วันพระแม่นั่งเมือง”

เทศบาลเมืองลำพูน จัดงานทำบุญประจำปี เนื่องในวันคล้ายวันเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระนางเจ้าจามเทวี ศรีหริภุญชัย “วันพระแม่นั่งเมือง”

วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2563) ที่ ศาลพระนางเจ้าจามเทวี ด้านหลังศาลากลางจังหวัดลำพูน จัดพิธีเปิดงานทำบุญประจำปี 2563 เนื่องในวันคล้ายวันเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระนางเจ้าจามเทวี ศรีหริภุญชัย “วันพระแม่นั่งเมือง” โดยมี นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน ประชาชนชาวลำพูน ร่วมพิธี โดยวัตถุประสงค์ของการจัดพิธี เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระนางเจ้าจามเทวี ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย โดยชุมชนศรีบุญเรือง ตลอดจนลูกหลานพระนางจามเทวี ได้จัดพิธีทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา การขึ้นครองราชย์ของพระนางเจ้าจามเทวี เป็นประจำทุกปี

ศาลพระนางเจ้าจามเทวีแห่งนี้ ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่เป็นที่แน่ชัดว่า ในสมัยของเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 พลตรีมหาอำมาตย์โทเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ก็มีศาลพระนางเจ้าจามเทวีอยู่แล้ว เดิมเป็นเรือนไม้หลังเล็กๆ ตั้งอยู่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้านหลังศาลากลาจังหวัดลำพูน ต่อมา เรือนไม้หลังนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก นายบำรุง ชมพูบุตร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะนั้น จึงขออนุญาตจากนายบรรโลม ภุชงคกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ขณะนั้น ทำการก่อสร้างขึ้นใหม่ เป็นศาลก่ออิฐโบกปูนหลังเล็ก จำนวน 2 หลังคือศาลพระนางเจ้าจามเทวี 1 หลัง และศาลพระโอรสทั้งสองพระองค์ 1 หลัง ต่อมา ประชาชนชาวลำพูนชุมชนศรีบุญเรือง – ช้างสี ได้ขอให้เทศบาลเมืองลำพูนทำการก่อสร้างศาลพระนางเจ้าจามเทวีหลังใหม่ ซึ่งทางเทศบาลเมืองลำพูนได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยในปี 2545 เพื่อพัฒนาเมือง จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลพระนางเจ้าจามเทวี พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยรอบ ปลูกต้นไม้ ปูบล็อกอิฐ ก่อสร้างรั้ว ติดตั้งระบบไฟฟ้า โคมไฟแสงสว่าง พร้อมม้านั่งหิน ให้สวยงามดั่งปัจจุบัน

ศาลพระแม่นั่งเมือง เป็นสถานที่ที่ประชาชนชาวจังหวัดลำพูน มีความเคารพนับถือและศรัทธามาก โดยมีความเชื่อว่า ในบริเวณศาลากลางจังหวัดลำพูน ในอดีตนั้น เคยเป็นเขตพระราชวังของพระนางเจ้าจามเทวี และมีท้องพระโรงสำหรับว่าราชการของพระองค์ท่าน จึงเป็นที่สักการบูชา กราบไหว้ ขอพร เมื่อต้องการความสำเร็จ ความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงาน หรือกิจการต่างๆ ชาวชุมชนศรีบุญเรือง-ช้างสี จึงได้ยึดถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมประเพณี ถือเอาวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 3 ซึ่งเป็นวันขึ้นครองราชย์ของพระองค์ เป็นวันทำบุญประจำปี ถวายแด่ พระนางเจ้าจามเทวี สืบต่อกันมา

และในช่วงเวลา 18.00 น. สำนักดาบอารียเมตต์ หริภุญไชยฯ คณะเยาวชนอารียเมตต์ฯ สะบัดชัย ได้ร่วมถวาย ฟ้อนเจิง ฟ้อนง้าว ตีกลองสะบัดชัย โดยทางคณะได้กล่าวว่า คนภาคเหนือมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติจึงมีจิตใจอ่อนโยน เป็นคนมีนิสัยรักความงาม รักศิลปะและดนตรี ด้านศิลปะนับว่ามีความชำนาญเป็นเยี่ยม ชายชาวเหนือมีฝีมือด้านช่างเป็นเยี่ยม งานศิลปะเด่น ๆ เช่น งานปูนปั้น งานแกะสลักไม้ การทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน ล้วนแสดงให้เห็นถึงฝีมือทางด้านศิลปะที่งดงามยิ่ง ทางด้านดนตรีและการละเล่นก็จะมีวงดนตรีที่เรียกว่า วงสะล้อ ซอ ซึง ส่วนการฟ้อนก็จะมีฟ้อนเล็บ

ฟ้อนเทียน การละเล่นพื้นบ้านก็มีการจ้อย การซอ (ลักษณะคล้ายหมอลำทางภาคอีสาน) ซึ่งแสดงเป็นเรื่องราว แสดงการขับเกี้ยวพาราสีกัน การแสดงซอพื้นเมืองจะปรากฏให้เห็นตามงานเทศกาลทั่วไป ปัจจุบันแม้จะลดน้อยลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ (ฟ้อน) ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนสาวไหม กลองสะบัดชัย ซอเมือง ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนดาบ ฟ้อนเงี้ยว เป็นต้น

ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยธนบุรีและวิทยาลัยเทคโนโลยีหมู่บ้านครูลำพูน ร่วมสมทบนิธิเจ้าแม่จามเทวี-ศรีบุญเรือง จำนวน 152,600 บาท จากนั้นคณะกรรมการนิธิจามเทวี – ศรีบุญเรือง ได้ร่วมมอบพัดลมให้ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้สูงอายุ ที่ประสบภาวะขาดแคลน พร้อมสมทบเงินให้แก่ผู้ดูแล คนละ 500 บาท จำนวน 19 คน และมอบพัดลมให้ศูนย์เด็กเล็กเทศบาลเมืองลำพูน จำนวน 4 เครื่อง อีกด้วย

…………………..
กฤตยชญ์ พิงคะสัน ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน รายงาน