กรมทางหลวงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ บนทางหลวง 114

กรมทางหลวงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ บนทางหลวง 114 ตอน ดอยติ-ลำพูน เพื่อให้ประชาชนผู้อยู่ในพื้นที่ข้างเคียงโครงการฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ข่าวสาร เสริมสร้างความเข้าใจอันดีที่ถูกต้อง ในการดำเนินงานและพัฒนาโครงการฯ

เช้าวันนี้ (21 มีนาคม 2562) ที่ศูนย์ประชุมโชควัฒนาเครือสหพัฒน์ลำพูน ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ สาย ดอยติ – ลำพูน ระหว่าง กม.2+200.000-กม.5+197.687 (สำรวจจาก กม.เดิม ตอน ลำพูน –ดอยติ) (ปัจจุบันระบุ กม.ในสายใหม่ กม.0+000-กม.2+998) ระยะทาง 2.998 กิโลเมตร โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากนายศุภกร วชิราภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า กรมทางหลวงได้จัดทำแผนพัฒนาทางหลวง โดยกำหนดตามทิศทางของการพัฒนาระบบคมนาคม และขนส่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ งานก่อสร้างแยกต่างระดับ และสะพานลอยก็เป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่กรมทางหลวงมุ่งมั่นจะพัฒนาให้สมบูรณ์ จึงได้สำรวจและออกแบบการปรับปรุงทางหลวงและจุดตัดทางรถไฟ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ สาย ดอยติ – ลำพูน ระหว่าง กม.2+200.000-กม.5+197.687 (สำรวจจาก กม.เดิม ตอน ลำพูน –ดอยติ) (ปัจจุบันระบุ กม.ในสายใหม่ กม.0+000-กม.2+998) ระยะทาง 2.998 กิโลเมตร ระยะเวลาทำการ 990 วัน วงเงินค่าก่อสร้าง 522,076,000 บาท ผู้รับจ้างบริษัท บัญชากิจ จำกัด
ซึ่งหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ ผลที่คาดว่าจะได้รับในการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ บนทางหลวง 114 ตอน ดอยติ-ลำพูน คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพด้านการจราจรรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นและเป็นการอำนวยความปลอดภัยในการเดินทางบนทางหลวง 2.รองรับการพัฒนาโครงการขนส่งระบบราง ได้แก่ โครงการรถไฟรางคู่รถไฟความเร็วสูง ให้สอดคล้องนโยบายรัฐบาล ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งทางราง อีกทั้งจะทำให้การเดินทางและการขนส่งทางรถไฟเป็นไปอย่างรวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งส่งเสริมการค้า การขนส่งโรจิสติกส์ และการท่องเที่ยวอีกด้วยทั้งนี้ กรมทางหลวงได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเสนอรูปแบบก่อสร้างโครงการฯ ข้อมูลรายละเอียด ตลอดจนมาตรการลดผลกระทบ ระหว่างการก่อสร้าง พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการฯ จากประชาชน เพื่อให้ประชาชนผู้อยู่ในพื้นที่ข้างเคียงโครงการฯ ประชาชนผู้ใช้ทางตลอดจนส่วนราชการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ข่าวสาร เสริมสร้างความเข้าใจอันดีที่ถูกต้องในการดำเนินงานและพัฒนาโครงการฯ ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ประชาชน.

……………..
กฤตยชญ์ พิงคะสัน ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน รายงาน