แห่กัณฑ์หลอนที่ร้อยเอ็ด…

ร้อยเอ็ด…
แห่กัณฑ์หลอนที่ร้อยเอ็ด…
*คำ “หลอน” เป็นภาษาถิ่นไทอีสาน แปลว่า “แอบมาหา หรือลักลอบไปหา โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า” กัณฑ์หลอน คือกัณฑ์เทศน์พิเศษนอกเหนือจากกัณฑ์เทศน์ใน”บุญผะเหวด” 13 กัณฑ์ และแต่ละกัณฑ์จะมีเจ้าภาพเป็นเจ้าของกัณฑ์นั้นๆ อยู่แล้ว กัณฑ์หลอน จึงเป็นกัณฑ์เทศน์ที่ไม่ได้จองไว้ก่อน แต่จะเป็นกัณฑ์เทศน์ที่ชาวบ้านแต่ละคุ้มร่วมกันจัดขึ้นในวันที่มีการเทศน์ผะเหวดนั่นเอง

**วันนี้อาทิตย์ที่ 10 มี.ค.2562 ตลอดทั้งวัน.ระหว่างมีการเทศน์เรื่องผะเหวดจากพระภิกษุสงฆ์ ชาวบ้านจากอำเภอต่างๆจะจัดกัณฑ์หลอน “คือไทยทานต้นเงินต้นทอง” แห่กันมาเป็นกลุ่ม ๆ เมื่อมาถึงวัดตรงกับช่วงเวลาที่พระรูปใดอยู่บนธรรมมาสน์พระรูปนั้นต้องรับกัณฑ์หลอนนั้น ด้วยวิธีรับก็ไม่มีอะไรมาก ชาวบ้านจะมาตามพระไปที่ที่จะทำพิธีถวายกัณฑ์หลอน หัวหน้าจะนำไหว้พระรับศีลและถวายกัณฑ์หลอน พระให้พรเป็นเสร็จพิธี 

***ต้นกัณหลอนจะใช้กระจาดไม้ไผ่ หรืออาจจะเป็นถังน้ำพลาสติก ใส่ข้าวสารลงไปประมาณครึ่งถัง แล้วหาต้นกล้วยขนาดสูงประมาณ 1 เมตรตั้งไว้กลางกระบุง กระจาด หรือถังน้ำนั้น แล้วนำเงินชนิดต่างๆ เช่นใบละ 20,50,100,500 หรือ 1,000 บาท คีบด้วยไม้ไผ่ แล้วนำไปเสียบไว้ที่ลำต้นของต้นกล้วย ส่วนที่โคนต้นกล้วยนั้นนอกจากข้าวสารแล้วอาจจะนำปัจจัยอื่นๆ เช่น ธูปเทียน ผงซักฟอก มะพร้าวอ่อน กล้วยสุก ยาสามัญประจำบ้าน ฯลฯ ใส่ไว้เป็นเครื่องไทยทาน เมื่อได้เวลานัดหมาย คณะผู้มีศรัทธาจะพากันแห่กัณฑ์หลอนจากที่ตั้งโดยมีกลองยาว แคน ฉิ่ง ฉาบ ฯลฯ นำขบวน ผู้มีศรัทธาบางคนก็จะพากันฟ้อนรำไปตามจังหวะเสียงกลองอย่างสนุกสนานพอถึงวัด จะแห่รอบศาลาโรงธรรมโดยเวียนขวา 3 รอบ แล้วนำกัณฑ์หลอนขึ้นบนศาลาถวายแด่ภิกษุรูปที่กำลังเทศน์อยู่ขณะนั้น ถือเป็นการสร้างความสามัคคีของคนระหว่างหมู่บ้าน ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน

ดำเนิน พรมไช/รายงาน