นักศึกษาไทยในอิสราเอลถึงบ้านเกิดแล้ว ทุกฝ่ายรอรับอบอุ่น

นราธิวาส/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ

นักศึกษาไทยในอิสราเอลถึงบ้านเกิดแล้ว ทุกฝ่ายรอรับอบอุ่น

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ต.ค.66 ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส นายนราทิศ หมวกรอง อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้นำนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส จำนวน 22 คน และนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิยาลัยนราธิวาส จำนวน 8 คน รวมทั้ง 30 คน ที่เข้าโครงการฝึกสหกิจด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร ณ เขตอาราวา ประเทศอิสราเอล รุ่นที่ 7 ที่ทางรัฐบาลไทยได้เหมาลำเที่ยวบินของสายการบิน แอลอัลอิสราเอลแอร์ไลน์ จากท่าอากาศยานเบนกูเรียน ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อช่วงดึกของวันที่ 16 ต.ค.66 ที่ผ่านมา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้นำรถบัสขึ้นรองรับและถึงมหาวิทยาลัยนราธิวาส ด้วยความปลอดภัยในช่วงเช้า
โดยมีนายปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ รศ.ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ผศ.ทวี บุญภิรมย์ ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 รวมไปถึงเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.นราธิวาส ,เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.นราธิวาส, นายสังคม เกิดก่อ ปลัด จ.นราธิวาส, พตอดุลยมาน แยนา รอ ผบก.ภ.จว.นราธิวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิดามารดาและสมาชิกในเครือญาติของนักศึกษาทั้ง 30 คน คอยให้การต้อนรับที่ห้องประชุมชั้น 3 ตึกสำนักงานอธิการบดีฯ
ซึ่งการต้อนรับนักศึกษาทั้ง 30 คน ในครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ทางตัวแทนของจังหวัด รวมทั้งแม่ทัพภาคที่ 4 ต่างได้ขึ้นสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวพบปะนักศึกษาบนเวที พอสรุปใจความว่า ได้มีการกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลือนักศึกษากลับประเทศด้วยความปลอดภัย ซึ่งเหตุสงครามในประเทศอิสราเอลทุกฝ่ายไม่นิ่งนอนใจ เราทำกันอย่างเต็มที่เพื่อให้คนไทยกลับประเทศ และเมื่อทุกอย่างคลี่คลายเราจะมีการพิจารณาเพื่อส่งนักศึกษากลับไป และเมื่อนักศึกษากลับมาแล้วเรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยให้คำปรึกษาแนะนำ ประสานต่อการให้ความช่วยเหลือในระหว่างที่กลับมาอยู่ที่ภูมิลำเนา เนื่องจากประเทศอิสราเอลถือว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีการวิจัยด้านการเกษตรที่ล้ำหน้า เขาสามารถปรับพื้นที่ทะเลทรายให้สามารถทำการเกษตรได้

หากเราส่งนักศึกษาไปเรียนรู้กลับมาสามารถที่จะใช้ และนำองค์ความรู้มาปรับใช้ในบ้านเราก็จะยิ่งทำให้ภาคเกษตรกรรมบ้านเรามีการพัฒนาไปแบบไม่หยุดหยั่ง
ด้านนายอับดุลตอเล็บ มามะ นักศึกษาปี 4 คณะเกษตรศาสาตร์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสชนครินทร์ และที่ขาดไม่ได้คือทางสถานฑูตฯ ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของนักศึกษาที่อยู่ในประเทศอิสราเอล พื้นที่ทะเลทรายไม่มน้ำที่จะใช้เขาพยายามศึกษาวิจัยทุกวิธ๊ เพื่อจะให้มีน้ำใช้อยู่ตลอดเวลาสามารถที่จะปลูกพืชอะไรก็ได้ที่เขาอยากจะปลูก ถ้าถามว่าเกษตรบ้านเขามีแต่จนลงมั๊ยไม่มีครับเพราะเขามีรัฐบาลหนุนหลัง การจัดการระบบน้ำของเขามีการวิจัยทุกๆอย่างระบบน้ำ จะไม่มีน้ำสักหยดเดียวที่สูญเปล่า ส่วนสภาวะสครามที่อิสราเอลนักศึกษาไทยจะอยู่โซนอาราวาทั้งหมด ส่วนโซนที่มีสงครามจะเป็นโซนภาคกลาง ซึ่งจะมีระยะทางห่าง 170 ก.ม. ณ ตอนนี้โซนอาราวาจะเป็นเขตที่ปลอดภัยมากที่สุดในประเทศอิสราเอล ตอนนี้คนไทยและคนในประเทศอิสราเอลเองจะมาอพยพอยู่ในโซนที่พวกผมอยู่ บางหมู่บ้านเริ่มขาดแคลนเรื่องอาหาร เสื้อผ้า มีคนต้องอาศัยตามหอพักหรือตามสถานสาธารณสุขอะไรแบบนี้