กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School)

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School)

วันที่ 27 กันยายน 2565

ที่ โรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ โดยนางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) และมอบทุนสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ฯ เปิดป้ายศูนย์เรียนรู้โรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศ และ ชมฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ
นางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ส่งเสริมโครงการการจัดการขยะที่ต้นทาง Zero Waste อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของสถานศึกษา ชุมชนและ อปท.ในการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ภายใต้แนวคิดการจัดการขยะเหลือศูนย์ โดยใช้หลัก 3Rs มาเผยแพร่ให้แก่โรงเรียน ผ่านโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) เพื่อขยายผลและสร้างความยั่งยืนในการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน
ซึ่งกิจกรรมส่งเสริมโรงเรียนปลอดขยะเน้นสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของเครือข่าย ในการจัดการขยะมูลฝอย แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นแหล่งกำเนิด การลดปริมาณขยะ คัดแยก และการนำกลับมาใช้ใหม่ และกำจัดที่ถูกต้องตามหลัก วิชาการที่ปลายทาง
จากการรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ถึงสถานการณ์ปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศไทย ปี 2564 ที่มีการผลิตขยะ ออกมา 24.98 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 68,000 ต้นต่อวันอัตราการผลิตขยะต่อคน 1.14 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งมีการนำ กลับไปใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 32 ถูกส่งกำจัดอย่างถูกต้อง ร้อยละ 37 ส่วนที่เหลือนำไปกำจัดไม่ถูกต้องกว่าร้อยละ 31 จึงทำให้เกิด “ขยะสะสม”กลายเป็นปัญหามลภาวะ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค

ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ประชาชน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยแบบครบวงจร จึงมีความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ โรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศ จัดกระบวนการจัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม สร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในโรงเรียน โดยผู้บริหาร ครูแกนนำ นำนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมสู่การจัดการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ให้ทุกคนในโรงเรียนมีเป้าหมายเดียวกัน โดยใช้หลัก 6 ร่วม ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมรับผิดชอบ ร่วมภาคภูมิใจ และร่วมเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับคุณธรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน เพิ่มทักษะการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับนักเรียนผ่าน 11 แหล่งเรียนรู้ ส่งผลให้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ปี 2564 ได้รับถ้วยรางวัลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงเหมาะสมในการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอย เพื่อขยายองค์ความรู้กระบวนการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางในระดับโรงเรียนให้แก่สถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำไปต่อยอดต่อไป

นาคา คะเลิศรัมย์/รายงาน