ผช.ผบ.ทบ.ลงพื้นที่มอบนโยบายสกัดกั้นโควิดสายพันธุ์แอฟริการะบาดที่เกาะสะท้อน

นราธิวาส/ภาพ/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ

ผช.ผบ.ทบ.ลงพื้นที่มอบนโยบายสกัดกั้นโควิดสายพันธุ์แอฟริการะบาดที่เกาะสะท้อน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 พ.ค. 64 พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผช.ผบ.ทบ.และคณะ เดินทางมายังด่านพรมแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พร้อมประชุมร่วมกับนายไพโรจน์ จริตงาม รอง ผวจ.นราธิวาส นพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุข จ.นราธิวาส นายวัลลภ วุฒาพาณิชย์ นายด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาค 4 พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 50 คน เพื่อมอบนโยบายเพิ่มเติมในการสกัดกั้นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แอฟริกาใต้ แพร่ระบาดในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ เพื่อไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง

โดย พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส ได้บรรยายสรุปถึงแนวทางการป้องกันสกัดกั้นตามแนวชายแดน ซึ่งมีทั้งทางน้ำ ทางบกและทางอากาศ พร้อมได้มีการบูรณาการร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน อสม.และชรบ. ในการตั้งด่านโควิดตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะผ่านไปมาของแต่ละหมู่บ้านทั้ง 9 หมู่บ้าน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือ โซนชั้นนอก ชั้นกลางและชั้นใน เพื่อให้พื้นที่แต่ละหมู่บ้านของ ต.เกาะสะท้อน มั่นใจว่าจะไม่มีเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ มาแพร่ระบาด จากการลักลอบเดินทางเข้าตามช่องทางธรรมชาติของชาวบ้านเป็นการเพิ่มเติม

ด้านนายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุข จ.นราธิวาส ได้บรรยายสรุปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในพื้นที่โดยภาพรวมของ จ.นราธิวาส ยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ในเบื้องต้นมาจากครอบครัวของชาวบ้านในพื้นที่ ม.9 ต.เกาะสะท้อน ที่ภรรยาและบุตรเป็นชาวมาเลเซีย ได้ลักลอบข้ามแดนมาให้สามีและพักอาศัยอยู่เป็นเวลา 1 เดือน จึงทราบว่าติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ซึ่งปัจจัยสำคัญชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน ส่วนใหญ่จะไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 มากนัก เพราะถือว่าเมื่อติดเชื้อรักษา 14 วันก็หายเป็นปกติ

ด้าน พล.อ.พรศักดิ์ พลูสวัสดิ์ ผช.ผบ.ทบ. ได้กล่าวชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติพอสรุปใจความว่า เชื้อไวรัสโควิด 19 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่แพร่ระบาดในขณะนี้ เมื่อเรารู้ว่าคนเป็นผู้นำพาหะเข้ามาแพร่ระบาด เราก็ต้องใช้คนเป็นผู้สกัดกั้นถึงจะสำเร็จ คือต้องจี้ที่ตัวบุคคลกรหรือชาวบ้าน อย่างเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.หรือนายก อบต.เพราะเขาเป็นคนในพื้นที่หมู่บ้านนั้นๆ หากให้ความสนใจอย่างจริงจัง ต้องทราบว่า ชาวบ้านคนใดแอบลักลอบนำพาเครือญาติลักลอบข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องทราบ เนื่องจากพื้นที่ตามแนวชายแดนส่วนใหญ่ทั้ง 2 ฝากฝั่งจะมีเครือญาติอาศัยอยู่ทั้งนั้น จุดนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ พูดแบบบ้านๆคือต้องเคี่ยวเอาจริงเอาจังกับชาวบ้าน อย่างน้อยก็ไม่กล้าที่จะลักลอบนำพาข้ามแดนแล้วการแพร่ระบาดของเชื้อจะค่อยๆคลี่คลายจนกลับคืนสู่สภาวะปกติ