ศรีสะเกษ !! ผู้ว่าฯศรีสะเกษเปิดงานรำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี ประจำปี 2565 อำเภอขุขันธ์

ศรีสะเกษ !! ผู้ว่าฯศรีสะเกษเปิดงานรำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี ประจำปี 2565 อำเภอขุขันธ์

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้เป็นประธานเปิดงานรำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฏนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี ประจำปี 2565 โดยมีนายอรรถพล อรรคบุตร นายอำเภอขุขันธ์ นายสืบสวัสดิ์ สืบสายพรหม นายกเทศมนตรีตำบลเมืองขุขันธ์ และดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดศรีสะเกษ/อำเภอขุนขันธ์ ข้าราชการและประชาชน ร่วมให้การต้อนรับและร่วมเปิดงานแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี ประจำปี 2565 ซึ่งในปีนี้อำเภอขุขันธ์ได้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยการนำช้างมงคลจากจังหวัดสุรินทร์จำนวน 3 เชือก มาให้พ่อเมืองขุขันธ์และนายกเทศมนตรีตำบลเมืองขุขันธ์ และผู้บริหารนั่งร่วมขบวนแห่รอบเมืองขุขันธ์ ภายในงานมิกิจกรรมประกอบด้วยพิธีเช่นไหว้ศาลหลักเมือง พิธีเซ่นไหว้ศาลพระภูมิ ธีเซ่นไหว้อนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) การแสดงลุ่มน้ำเมืองขุขันธ์จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 23 แห่งในอำเภอขุขันธ์ การแสดงอัปสราการแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสานใต้ การแสดงโขนขุขันธ์ การประกวดกล้วยงามเมืองขุขันธ์ การประกวดผ้าไหมและเสื้อแส่ว การประกวดขบวนแห่และการประกวดสำรับเครื่องเช่นไหว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมการประกอบพิธีกรรมเช่นไหว้บรรพบุรุษ ตามความเชื่อที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เพื่อส่งเสริมความรัก ความสามัคคีของชาวอำเภอขุขันธ์ตลอดจนการใช้ประเพณีให้เป็นสายใยผูกพันในครอบครัว เพื่อพัฒนาท้องถิ่นในด้านการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเปิดประตูให้สาธารณชนทั่วไปได้มีโอกาสเรียนรู้ โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นสื่อต่อไป
นายสืบสวัสดิ์ สืบสายพรหม นายกเทศมนตรีตำบลเมืองขุขันธ์ กล่าวว่า อำเภอขุขันธ์ เป็นอำเภอเก่าแก่ตั้งมากว่า 985 ปี มีคนไทยเชื้อ สายหลายกลุ่มรวมกัน เช่น เขมร ลาว ส่วย เยอ ปัจจุบันมี 22 ตำบล 276 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 150,000 คนเศษ มีประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณีแซนโฏนตา ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประเพณีเช่นไหว้บรรพบุรุษเชื้อสายเขมร ดั้งเดิมจะประกอบพิธีเฉพาะในครอบครัวและชุมชน ซึ่งอาจขาดการเชื่อมโยงสู่คนรุ่นใหม่ ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมประเพณีอันดีงามให้แพร่หลาย ที่ประชุมภาคส่วนต่างๆของอำเภอขุขันธ์ จึงมีมติร่วมกันกำหนดการจัดงานประเพณีระดับอำเภอขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ และได้จัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนราชการ

โดยมอบหมายให้เทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์เป็นฝ่ายเลขานุการในการจัดงานในครั้งนี้ และได้รับความร่วมมือด้วยดีจากส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และพี่น้องประชาชนชาวอำเภอขุขันธ์เป็นอย่างดียิ่ง
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ กล่าวว่า ประเพณีแซนโฎนตา ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่ลูกหลานจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ซึ่งวันแซนโฎนตาหรือไงแซนโฎนตา ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งในปี 2565 วันแซนโฎนตา ตรงกับวันนี้ (5 ตุลาคม) คำว่า “ไง” หมายถึง วัน คำว่า “แซน” หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง คำว่า “โฎน” หมายถึง ย่าหรือยาย คำว่า “ตา” หมายถึง ปู่หรือตา ดังนั้นประเพณีนี้จึงหมายถึง การเซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวเขมร ในช่วงเวลานี้ ลูกหลานชาวเขมรที่ไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ จะเดินทางกลับมาหาครอบครัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ทั้งนี้ ชาวเขมรมีความเชื่อว่า เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ประตูยมโลกจะเปิด เพื่อให้ผู้รับกรรมที่อยู่ในนรกได้เดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ชาวเขมรจึงจัดทำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ในตอนเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 และพอรุ่งเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะนำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด เรียกว่า “วันเบ็นตูจ” โดยเชื่อว่าผีจะออกมาจากยมโลกได้ 15 วัน หลังจากนั้นต้องกลับไปรับกรรมในยมโลกตามเดิม จากวันเบ็นตูจนับไปอีก 15 วัน (นับจากวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10) จะตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี คือ “วันเบ็นทม” ซึ่งเป็นวันที่ประกอบพิธีแซนโฎนตา อีกส่วนสำคัญคือการเตรียม “บายเบ็ญ” โดยเตรียมอาหาร ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ ใส่กระทงเล็ก ๆ หลายใบ และจัดใส่กระทงใบใหญ่สัก 2 ใบ นำมาตั้งไว้นอกรั้วบ้านในวันแรม 15 ค่ำ เพื่อให้ผีที่ไม่มีญาติ การประกอบพิธีแซนโฎนตา แต่ละบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ทั้งอาหารคาว-หวาน ผลไม้ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน เซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน ประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน และประกอบพิธีกรรมที่วัด โดยการทำเช่นนี้เพื่อให้บรรพบุรุษรับผลบุญกุศลที่อุทิศไป ทำให้บ่วงกรรมที่มีบรรเทาลง ซึ่งชาวเขมรยึดถือประเพณีนี้สืบทอดกันมาอย่างยาวนานด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าในยุคของตนได้แซนโฎนตาให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ไปแล้ว รุ่นลูกจะต้องแซนโฎนตาให้ตนเหมือนกัน เพื่อให้ลูกหลานต้องปฏิบัติสืบทอดต่อๆกันไป เช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติหรือลูกหลานนำอาหารจำนวนมากมาทำบุญที่วัด บรรพบุรุษก็จะเกิดความปลื้มอกปลื้มใจ เมื่อถึงกำหนดวันที่ต้องกลับไปนรก ก็จะอวยพรให้ญาติหรือลูกหลานมีความสุขความเจริญ ประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จ มีเงินมีทองใช้ แต่ถ้าไม่เห็นลูกหลานเตรียมสำรับไว้ให้ ก็จะรู้สึกโศกเศร้า ผิดหวัง จนโกรธและสาปแช่งญาติหรือลูกหลานไม่ให้มีความสุขความเจริญ ดังนั้นชาวเขมรจึงประกอบพิธีนี้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้

*************
ข่าว …… บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ
ภาพ …. ปฐมพงษ์ ธุศรีวรรณ