รัฐมนตรีสุชาติ’ เรียกประชุมด่วน สั่ง 5 เสือในสังกัด ควบคุมโควิดระบาดในกลุ่มแรงงาน

‘รัฐมนตรีสุชาติ’ เรียกประชุมด่วน สั่ง 5 เสือในสังกัด ควบคุมโควิดระบาดในกลุ่มแรงงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรียกผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน พร้อมอธิบดีทุกกรม และผู้ที่เกี่ยวข้องกำชับหน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่บูรณาการทำงานควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงาน แจ้งนายจ้างในสถานประกอบการกำชับลูกจ้างปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครว่า ผมได้ติดตามสถานการณ์และมีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปต่อการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการกำกับดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานและประชาชน
ทุกกลุ่มได้มีการสั่งการและดำเนินการตามมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้สั่งการให้กรมการจัดหางานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมและประสานข้อมูลรายงานกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) อย่างใกล้ชิด ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งก็ได้มีมาตรการป้องกันโควิด – 19 ที่เข้มงวดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามในวันนี้ ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง อธิบดีทุกกรม และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำชับให้หน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่บูรณาการร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมทั้งประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ไปยังหัวหน้าส่วนในสังกัดจังหวัดสมุทรสาครเพื่อติดตามสถานการณ์ โดยได้กำชับให้ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน
ทุกพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการเพื่อให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของ
โควิด -19 รวมทั้งให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ รวมทั้งการออกประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณีและจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบคัดกรองโรค เช่น การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น

นายสุชาติ ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงาน ยังได้ประสานไปยังสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เครือข่ายภาคเอกชน และ NGOs เพื่อให้ทางการเมียนมาออกสื่อประชาสัมพันธ์เป็นภาษาเมียนมาเพื่อให้ลูกจ้างเมียนมาที่มาทำงานในประเทศไทยรับทราบและปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 โดยรณรงค์ให้แรงงานต่างด้าวและสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวตระหนักถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโรค โดยประชาสัมพันธ์ในภาษาของแรงงานต่างด้าวตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม ล้างมือบ่อย ๆ หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เป็นต้น รวมทั้งการระงับการให้บริการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคมนี้ไปจนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564
ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าว จำนวน 275,782 คน (ข้อมูล 15 ธ.ค.63) เมียนมา 243,617 คน ลาว 13,200 คน กัมพูชา 9,648 คน และสัญชาติอื่นๆ 9,317 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวกระทรวงแรงงาน ด้านป้องกัน ได้แก่ 1) การชะลอการอนุมัตินำเข้แรงงานต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ 2) การผ่อนปรนให้แรงานต่างด้าว MOU ที่ใบอนุญาตจะครบตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 – ธันวาคม 2564 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไปอีก 2 ปี
3) ตรวจสอบคัดกรองและเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง (PIPO)
4) ขอความร่วมมือสถานประกอบการทั่วประเทศ ประขาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ลูกจ้าและผู้ประกันตนในสถานประกอบการ เรื่องไวรัสโควิด-19 และการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข 5) แจ้งมาตรการให้นายจ้างในสถานประกอบการการคัดกรองลูกจ้างแรงานต่างด้าวและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

6) ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวโดยร่วมมือกับสภากาชาดไทย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันโดยจัดทำเอกสารเผแพร่เป็นภาษาของแรงงานต่างด้าว สร้างความเข้าใจเรื่องมาตรการเยียวยาผลกระทบ มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์
มีกระบวนการคัดกรองและการกักตัว 14 วัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 7) รวบรวมรายชื่อสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวหรือสถานที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและจำนวนแรงงานต่างด้าวทุกจังหวัด
ทั่วประเทศ และแจ้งข้อมูลให้ ศบค.ทราบเพื่อใช้ในการวางแผนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันเชิงรุกร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) ด้านเยียวยา ได้แก่ การให้บริการทางการแพทย์
แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ภายหลังสถานการณ์ผ่อนคลาย ได้แก่ 1) ส่งเสริมการจ้างานคนไทยให้เข้าสู่ระบบการจ้างงาน 2) จัดทำข้อมูลความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างด้าวในประเทศ และ 3) การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ