“วราวุธ” สั่งตรวจสอบด่วน ด้าน“กรมทะเล” เตรียมประกาศมาตรการคุ้มครอง เขตทะเลตรัง

“วราวุธ” สั่งตรวจสอบด่วน ด้าน“กรมทะเล” เตรียมประกาศมาตรการคุ้มครอง เขตทะเลตรัง

กรณีพบพะยูนท้องแก่เสียชีวิตและพบบาดแผลภายในปากคาดว่าเป็นการตัดเขี้ยวออกไป1อันเบื้องต้นจากการชันสูตรพบลักษณะแผลจากการถูกของมีคมและเป็นวัตถุแข็งกระแทกบริเวณส่วนท้ายของลำตัวด้านขวา ผิวหนังลอกหลุดบริเวณกว้าง และพบกล้ามเนื้อเกิดการฉีกขาดอย่างรุนแรง ซึ่งบ่งชี้ถึงการได้รับบาดเจ็บจากของมีคมและเป็นวัตถุแข็งกระแทกอย่างรุนแรง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสมอเรือ สำหรับเขี้ยวของพะยูนข้างซ้ายบางส่วน มีรอยตัดจากของมีคมตัด ซึ่งคาดว่าถูกเลาะออกไปภายหลังจากการเสียชีวิตเนื่องจากไม่พบรอยช้ำของบาดแผลโดยรอบ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมชี้โทษหนักหากทำร้ายพะยูน ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมมาตรการเข้มคุ้มครองพะยูนและแผนเพิ่มจำนวนเป็น 280 ตัว ในปี 2565

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้รับรายงานด่วนจากพื้นที่เมื่อวานนี้ (17 ธันวาคม 2563) ว่าพบพะยูนท้องแก่เสียชีวิตบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ระหว่างเกาะแหวนกับเกาะกระดาน หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยพะยูนที่พบมีลูกในท้องอายุประมาณ 13 – 15 เดือน และพบว่าภายในปากมีบาดแผลใหญ่ เขี้ยวหายไป1ข้าง ตนรู้สึกเสียใจและสะเทือนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งนับตั้งแต่กรณีน้องมาเรียมและน้องยามีล สังคมไทยได้บทเรียนเรื่องขยะพลาสติกในทะเลไปแล้ว ครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นเหตุจากความประมาทของการทิ้งสมอเรือ ส่วนการที่เขี้ยวหายไปคาดว่าเกิดจาการลักลอบตัดไปของผู้ที่พบเห็นซากพะยูน ซึ่งนับว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES กำหนดให้พะยูนเป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อจะได้ดำเนินประกาศตามกระบวนการต่อไป ซึ่งจะช่วยดูแล คุ้มครองพะยูนในพื้นที่จังหวัดตรัง ซึ่งตนได้ย้ำกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กำชับและกำกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด สุดท้ายตนอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคนว่า

“เราจะต้องสูญเสียพะยูนไปอีกสักกี่ตัวเพื่อเรียนรู้ถึงความผิดพลาดของมนุษย์
อย่าใช้ชีวิตพะยูนเป็นเครื่องสะท้อนความผิดพลาดของเราอีกต่อไปเลย”

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีพะยูนท้องแก่เสียชีวิตเป็นพะยูนเพศเมีย ความยาว 257 ซม. น้ำหนักประมาณ 260 – 270 กก. ลักษณะภายนอก มีบาดแผลประมาณ 3 – 4 นิ้ว บริเวณปากเหมือนถูกตัดเขี้ยวออกไป1ข้างโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมได้ประสานทีมนักวิชาการและสัตวแพทย์ ประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) เพื่อชันสูตรหาสาเหตุการตายอย่างละเอียด เบื้องต้นได้ดำเนินการแจ้งความกรณีพบพะยูนเสียชีวิตดังกล่าวไว้ที่สถานีตำรวจ สภ. กันตัง แล้ว สำหรับการชันสูตรโดยเจ้าหน้าที่ ศวอล. ร่วมกับสัตวแพทย์หญิงปิยฉัตร บัวศรี สัตวแพทย์ประจำสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีชัยวิทยาเขตตรัง และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม พบว่าเป็นซากพะยูน สภาพซากสด ลักษณะภายนอก มีเพรียงเกาะบริเวณหลังเล็กน้อย พบบาดแผลรอยบาดจากของมีคมบริเวณด้านหลังส่วนท้าย และพบลักษณะแผลจากการถูกของมีคมและเป็นวัตถุแข็งกระแทกบริเวณส่วนท้ายของลำตัวด้านขวา ทำให้พบรอยช้ำบริเวณรอบบาดแผล ผิวหนังลอกหลุดบริเวณกว้าง และพบกล้ามเนื้อมีรอยช้ำ เกิดการฉีกขาดอย่างรุนแรง โดยแผลทะลุเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อจนถึงอวัยวะภายใน

ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสมอเรือ นอกจากนี้ ยังพบว่าเขี้ยวของพะยูนข้างซ้ายบางส่วน มีรอยตัดจากของมีคมตัด ซึ่งคาดว่าถูกเลาะออกไปภายหลังจากการเสียชีวิตเนื่องจากไม่พบรอยช้ำของบาดแผลโดยรอบ เมื่อเปิดผ่าอวัยวะภายในพบลูกพะยูน ขนาดความยาว 82 ซม. น้ำหนัก 9.2 กก. เพศเมีย อยู่ภายในช่องท้อง คาดอยู่ในช่วงระยะใกล้คลอด สำหรับเรื่องนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เดินหน้าป้องกันแก้ไขปัญหามาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งได้กำหนดแผนพะยูนแห่งชาติ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนพะยูนจาก 250 ตัว เป็น 280 ตัว ภายในปี 2565 ซึ่งที่ผ่านมาตนได้กำชับหน่วยงานปฏิบัติการลาดตระเวนและทีมนักวิชาการในการสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังฝูงพะยูนในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจลาดตระเวนและรายงานผลแบบ Real Time สำหรับพะยูนและสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ห่วงใยทรัพยากรทางทะเลและสัตว์ทะเล และยังให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนให้ทราบอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง อนึ่ง ตนอยากฝากย้ำกับพี่น้องประชาชนหากพบการเสียชีวิตหรือเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายาก ขอให้แจ้งหน่วยงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ต่างๆทันที ห้ามมิให้จับหรือครอบครองทั้งในสภาพที่มีชีวิต หรือแม้แต่เพียงซากชิ้นส่วนใด ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ซึ่งจะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กำหนดว่าผู้ที่ล่าสัตว์ป่าสงวนต้องระวางโทษจำคุก 3 – 10 ปี ปรับตั้งแต่ 3 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณี ครอบครองสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่ามีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท อธิบดีทช.กล่าวย้ำชัดเจน