แรงงานชี้แจงลูกจ้างบริลเลียนท์ฯ รับเงินสงเคราะห์เพิ่ม 12 ล้านบาท หลังชุมนุมติดตามข้อเรียกร้อง
แรงงานชี้แจงลูกจ้างบริลเลียนท์ฯ รับเงินสงเคราะห์เพิ่ม 12 ล้านบาท
หลังชุมนุมติดตามข้อเรียกร้อง
———————————–
ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานชี้แจงการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ฯ ที่เดินทางมาชุมนุมหน้ากระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามข้อเรียกร้องที่ขอให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือ โดยระเบียบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่แก้ไขเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์มีผลบังคับใช้ ลูกจ้างบริลเลียนท์ฯ ได้รับเงินเพิ่มรวม 12 ล้านบาท
นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นเนลแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนลูกจ้าง บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด รวมตัวกันจำนวน 77 คน เดินทางมาที่กระทรวงแรงงานพร้อมยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอให้ติดตามการช่วยแก้ปัญหาของลูกจ้างตามข้อเรียกร้อง 4 ข้อ โดยท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความห่วงใยมอบหมายให้มารับหนังสือดังกล่าวและชี้แจงให้ลูกจ้างทราบว่า หลังจากที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างแล้วนั้น กระทรวงแรงงานได้ช่วยเหลือลูกจ้างโดยจ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง แก่ลูกจ้าง จำนวน 1,388 คน เป็นเงินจำนวน 22,321,856 บาท และสำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินประกันการว่างงานแก่ลูกจ้าง เป็นเงินจำนวน 65,540,768 บาท ในส่วนของคดีอาญาศาลได้ออกหมายจับนายจ้างแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางเสาธง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นผู้ดำเนินการเร่งรัดให้เป็นไปตามหมายจับต่อไป ส่วนเรื่องทางคดีแพ่งพนักงานตรวจแรงงานโดยนิติกรของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 1 โดยศาลได้พิพากษาให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยกับลูกจ้าง ขั้นตอนต่อไปเป็นการบังคับคดีตามขั้นตอนของศาล ส่วนเรื่องให้กระทรวงแรงงานจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างเพิ่มให้กับลูกจ้างนั้น คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้ดำเนินการแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วย การจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่ายกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease (COVID-19)) พ.ศ.2564 โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ ดังนี้ 1. กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือ “จาก 30 เท่า เป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี จาก 50 เท่า เป็น 80 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี และ จาก 70 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป” 2. กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือ “60 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ระเบียบนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ฯ สามารถยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งลูกจ้างจะได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ฯ เพิ่มคนละประมาณ 9,930 บาทขึ้นไป วงเงินรวมประมาณ 12 ล้านบาทเศษ และหากยื่นคำร้องภายในสัปดาห์นี้ก็จะได้รับเงินก่อนปีใหม่แน่นอน
นายวรรณรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่เรียกร้องให้นำเงินงบกลางมาจ่ายให้กับลูกจ้างก่อน แล้วไปดำเนินการเรียกเก็บจากนายจ้างนั้น ทางกระทรวงแรงงานได้หารือทางสำนักงบประมาณแล้ว ทางกฎหมายการที่นายจ้างค้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเป็นหนี้ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไม่มีอำนาจหน้าที่จ่ายเงินแทนนายจ้างได้ ตามระเบียบการใช้งบกลางจึงไม่สามารถของบกลางมาเพื่อจ่ายให้กับลูกจ้างในกรณีนี้ได้