ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตรวจเยี่ยมการฝึกและสังเกตการณ์การบูรณาการร่วมระหว่างการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 กับการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล.ประจำปี 2565

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตรวจเยี่ยมการฝึกและสังเกตการณ์การบูรณาการร่วมระหว่างการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 กับการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล.ประจำปี 2565

วันนี้ (16 มิถุนายน 2565) พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เดินทางไปตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์ การบูรณาการร่วมระหว่าง การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 กับการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2565 โดยมี พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. และ พลเรือเอก ธีรกุล กาญจนะ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 ให้การต้อนรับ
โดยใน เวลา 09.30 น. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้แทนส่วนราชการใน ศรชล. ได้เดินทางมาถึงเรือหลวงอ่างทอง หลังจากนั้น ได้เยี่ยมชมการฝึกขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันในทะเล (Oil Spill) และการฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล (Sea SAR) ร่วมกับหน่วยงานในศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมศูนย์บัญชาการในทะเล และโรงพยาบาลสนามบนเรือหลวงอ่างทอง
ต่อมาในเวลา 11.00 น. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะ เดินทางต่อไปยังเกาะเสม็ด โดยเรือระบายพลขนาดกลาง (Landing Craft Mechanized :LCM) เพื่อตรวจเยี่ยมการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติการเคมี ชีวภาพและรังสี ณ ท่าเรืออ่าวกลาง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์บนบก (Incident Command System :ICC) ณ สนามฟุตบอล อบจ. ระยอง
สำหรับการฝึกในปีนี้ กองทัพเรือ ได้กำหนดจัดให้มีการฝึกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) ด้วยกำลังทางเรือ ตามแนวคิด From The Sea การค้นหา และช่วยชีวิตในพื้นที่การรบทางทะเล (Combat Sea SAR) โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือและการระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานต่างๆ

ได้แก่ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดระยอง บริษัทเอกชน หน่วยกู้ภัย และสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน
ในปัจจุบัน ศรชล. นับเป็นหน่วยงานหลัก เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาล และรับผิดชอบการดำเนินการที่มีเอกภาพ สามารถบูรณาการการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ในเขตทางทะเลที่มีลักษณะที่หลากหลาย และประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตย รวมทั้งสิทธิหน้าที่อื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณี จะต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่มีอยู่อย่างมากมายในด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากร ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล มี นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ผอ.ศรชล.)
ปัจจุบัน ศรชล. มีภารกิจหลักในการป้องกันภัย 9 ด้าน ประกอบด้วย 1.การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล 2.การทำประมงผิดกฎหมาย 3.การค้ามนุษย์/ลักลอบเข้าเมือง 4.ยาเสพติด/สินค้าผิดกฎหมาย/อาวุธสงคราม 5.การทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง 6.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 7.โจรสลัด/การปล้นเรือ 8.การก่อการร้าย และ 9.การขนส่งสินค้า
โดย โฆษก ศรชล. กล่าวว่า “ศรชล.ทุกนายมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความรัก ความสามัคคี ความวิริยะอุตสาหะ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด เพื่อผลประโยชน์ทางทะเลแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มเปี่ยม”

ภาพ/ข่าว นิราช/นันฐพล/พิชญ์ฐญา ทิพย์ศรี
พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก