พังงา-ในหลวงพระราชทานโครงการ“โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” ให้ผู้ต้องขังได้รับพระราชทานอภัยโทษ 412 คน ก่อนปล่อยตัวกลับสู่สังคม

พังงา-ในหลวงพระราชทานโครงการ“โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” ให้ผู้ต้องขังได้รับพระราชทานอภัยโทษ 412 คน ก่อนปล่อยตัวกลับสู่สังคม

วันที่ 15 กันยายน 63 ที่เรือนจำจังหวัดพังงา อ.เมืองพังงา นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานในพิธีปิดโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” รุ่นที่ 1 พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 412 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ปี 2563 เป็นชาวไทย 409 คน และชาวต่างชาติ 3 คน
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยความเป็นอยู่พสกนิกรของพระองค์ทุกหมู่เหล่ารวมถึงผู้ต้องราชทัณฑ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้มีโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังขึ้น เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ต้องขังได้ปรับเปลี่ยนแนวความคิด ฝึกวินัย ฝึกการแก้ปัญหา ลงมือปฏิบัติ นำความรู้ความสามารถไปดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพการงานด้วยตนเองภายหลังพ้นโทษตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพระราชทานไว้

นายไพฑูรย์ ม่วงไหมทอง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพังงา กล่าวว่า โครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” รุ่นที่ 1 เรือนจำจังหวัดพังงา ได้นำวิทยากรจิตอาสา 904 เข้าทำการฝึกอบรมในระหว่างวันที่ 1 ถึง 14 กันยายน 2563 เป็นการประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน และสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก สามารถดำเนินการปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ปลูกต้นไม้ ปลูกผัก เลี้ยงกบเลี้ยงปลา ให้พอกินพออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น โดยในระหว่างการดำเนินการจะมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ แนวความคิดฝึกวินัย ลงมือปฏิบัติ แก้ปัญหาจริง โดยได้แบ่งขั้นตอนการฝึก เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่

ขั้นที่ 1 การอบรมพึ่งตนเองด้วยทฤษฎีเกษตรพอเพียง
ขั้นที่ 2 การแปลงทฤษฎีเกษตรพอเพียงสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย
1.การออกแบบแนวความคิดการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็ก การประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคมลงบนกระดาน
2. การสร้างต้นแบบบนพื้นที่จำลอง และวางแผนการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น
3.การปฏิบัติในพื้นที่จริง ตามทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน
และขั้นที่ 3 เป็นการสรุปและประเมินผล
โดยผู้ต้องขังที่เข้ารับการฝึก จะได้รับความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้เกิดการพัฒนาตนเอง พึ่งพาตนเองได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถแลกเปลี่ยน ถ่ายทอด พัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาและองค์ความรู้ให้แก่ผู้อื่น เตรียมความพร้อมออกไปเป็นคนดีในสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป