ทต.เกาะช้างใต้ ทำให้ดูธนาคารน้ำใต้ดิน ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง-ภัยแล้ง

ข่าว / ทต.เกาะช้างใต้ ทำให้ดูธนาคารน้ำใต้ดิน ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง-ภัยแล้ง

วันที่ 9 ก.ค.65 เมื่อวันที่ 8 ก.ค.65 ที่ผ่านมา นายจักรกฤษณ์ สลักเพชร นายกเทศมนตรี ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด ได้ให้การต้อนรับ คณะจาก 2 ท้องถิ่น คือ อบต.ท่ามะนาว และ อบต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ที่เดินทางมาศึกษาดูงาน นำโดย นายวสันต์ ดรชัย นายกอบต.ท่ามะนาว และ นางสาวปรีดาวรรณ เทียมกลิ่น นายกอบต.ลำนารายณ์ โดยทางเทศบาล ต.เกาะช้างใต้ ได้มีการทำหลุมธนาคารน้ำใต้ดิน ให้คณะฯดูเป็นตัวอย่าง ที่บริเวณด้านหลังโรงครัวของวัดสลักเพชร เพื่อช่วยรองรับบำบัดน้ำเสีย และคราบไขมันจากโรงครัวในแต่ละวัน ก่อนที่น้ำจะไหลลงในลำคลองโดยนายจักรกฤษณ์ได้อธิบายขั้นตอนวิธีการทำอย่างละเอียด ในโอกาสที่จัดกิจกรรมโครงการ “บวชป่า ปลูกป่า สืบชะตาสายน้ำ ต.เกาะช้างใต้” ครั้งที่ 12 ประจำปี 2565 ณ บริเวณวัดสลักเพชร ต.เกาะช้างใต้
นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า การทำหลุมธนาคารน้ำใต้ดินดังกล่าว เป็นไปตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนได้เป็นอย่างดี ช่วงที่เกิดฝนตก น้ำฝนก็ไหลลงในหลุมธนาคารน้ำได้ดิน สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผิวดินและหญ้าในช่วงฤดูแล้ง เพราะในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่เกาะช้างจะมีฝนตกปริมาณมาก แต่น้ำฝนได้ไหลลงทะเลหมด สำหรับการทำหลุมธนาคารน้ำใต้ดิน จะใช้รถแบ็คโฮเล็ก ทำการขุดหลุมลึกประมาณ 1-2 เมตร กว้าง 1-2 เมตร ขนาดของหลุมแล้วแต่สภาพของพื้นที่ ใช้ท่อ PVC ตั้งตรงกลางหลุม เพื่อเป็นท่อระบายอากาศ ใช้ยางรถยนต์เก่าใส่ลงไปที่ก้นหลุม

ตามด้วยขวดพลาสติกที่ใส่น้ำประมาณครึ่งขวด-ขวดเครื่องดื่ม-เศษไม้-ลูกมะพร้าว ก้อนหินใส่ลงไปในหลุม แล้วก็ใส่ดินหรือทรายด้านบน ก็จะเสร็จเรียบร้อย
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางเทศบาล ต.เกาะช้างใต้ ได้เดินหน้าส่งเสริมให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนจัดทำหลุมธนาคารน้ำใต้ดินรวมไปถึง วัด-โรงเรียน-สถานประกอบการธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะจุดที่มีน้ำท่วมขังเป็นประจำ พบว่าหลังจากทำหลุมธนาคารน้ำใต้ดินแล้ว ช่วงที่มีฝนตกลงมาปริมาณมาก จะไม่มีน้ำท่วมขังให้เห็นอีกเลย โดยน้ำฝนจะไหลลงไปในหลุมธนาคารน้ำใต้ดิน และน้ำก็จะซึมลงใต้ดิน ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นโดยรอบพื้นที่ ช่วยเพิ่มตาน้ำให้แก่สระน้ำ ช่วยแก้ปัญหาการขาดน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งในปัจจุบันมีชาวบ้านในพื้นที่หลายครัวเรือน ได้ทำหลุมธนาคารน้ำใต้ดินรอบๆอาคารบ้านเรือน และรอบๆสระน้ำ ที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร นอกจากนี้แล้วก็ยังมีท้องถิ่น ชุมชน จากต่างพื้นที่ให้ความสนใจเดินทางมาศึกษาดูงานวิธีการทำหลุมธนาคารน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่อง

ภาพ/ข่าว วรโชติ เกาะช้าง-วิเชียร ม่วงสี ทีมข่าวภูมิภาค/รายงาน