ชลบุรี ประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อศึกษาทบทวน การบริหารจัดการขยะมูลฝอย กลุ่มที่ 2

ชลบุรี ประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อศึกษาทบทวน การบริหารจัดการขยะมูลฝอย กลุ่มที่ 2

นายอําเภอสัตหีบ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อศึกษาทบทวน ผลการศึกษาการบริหารจัดการกลุ่มพื้นที่การจัดการขยะมูลฝอย (Clusters)กลุ่มที่ 2 จังหวัดชลบุรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียง
ในวันนี้ 9 มี.ค.65 ที่อาคารโดม 62 เทศบาลตําบลเขตรอุดมศักดิ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ว่าที่พันตรี ชาติชาย ศรีโพธิ์อ่อน นายอําเภอสัตหีบ เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการศึกษาทบทวน ผลการศึกษาการบริหารจัดการกลุ่มพื้นที่การจัดการขยะมูลฝอย (Clusters)กลุ่มที่ 2 จังหวัดชลบุรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียง โดยมีนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายศุภชัย นิ่มอนงค์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตําบลเขตรอุดมศักดิ์ และผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาชน เข้าประชุมรับฟังในครั้งนี้ด้วย
จากการประชุมคณะทำงานบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจังหวัดสะอาด เห็นชอบให้มีการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย (Cluster) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชลบุรี ออกเป็น 5 กลุ่ม โดยเมืองพัทยาเป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการ กลุ่มบริหารจัดการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย กลุ่มที่ 2 อันประกอบด้วย เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จำนวน 16 แห่ง ได้มีแนวคิดในการจัดตั้ง “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงาน ” และ “สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย” เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลในการดำเนินการจัดการขยะ จึงได้ขยายความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอศรีราชาอีก 6 แห่ง รวมเป็น 22 แห่ง เพื่อร่วมกันบริหารจัดการขยะในพื้นที่ โดยมีเมืองพัทยาเป็นเจ้าภาพ ในการจัดการขยะมูลฝอยในกลุ่มนี้กล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มพื้นที่การจัดการขยะมูลฝอย (Cluster) กลุ่มที่ 2 ของจังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีปริมาณประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งประชาชนที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดชลบุรี และประชาชนที่ย้ายถิ่นเข้ามาพักอาศัย ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งในปัจจุบัน เมืองพัทยาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ และบางส่วนของอำเภอศรีราชา จำนวน 22 แห่ง มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมกันโดยประมาณ 1,594.23 ต้นต่อวัน โดยคาดการณ์ว่า การขยายตัวของเมืองอันเป็นผลมาจากนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยจากการคาดการณ์พบว่าในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ อาจมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งจะเกินศักยภาพ

การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการ
วางแผนระยะยาว เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองเศรษฐกิจและจำนวนประชากร ที่จะส่งผลให้เกิดปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้น อันจะเป็นการควบคุมมลพิษที่จะมีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ และเป็นการส่งเสริมรักษาคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพดี อยู่คู่กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีต่อไป เมืองพัทยาจึงได้ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ และบางส่วนของอำเภอศรีราชา ดำเนินการศึกษาหาแนวทางบริหารจัดการขยะในอนาคต และศึกษาความเหมาะสมของศูนย์กำจัดขยะเพื่อผลิตพลังงาน ตลอดจนระบบขนถ่ายขยะที่ถูกสุขลักษณะตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการวางแผนดำเนินการ โครงการการศึกษาด้านความคุ้มค่าการลงทุน และการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินการในโครงการ ดังกล่าว
จึงนำมาสู่การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การศึกษาทบทวนผลการศึกษาการบริหารจัดการกลุ่มพื้นที่การจัดการขยะมูลฝอย (Clusters) กลุ่มที่ 2 จังหวัดชลบุรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียงในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อชี้แจงรายละเอียดความเป็นมาของโครงการ ขั้นตอน แนวทางการดำเนินงาน และเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ รวมถึงรับทราบปัญหาอุปสรรค และข้อกังวลในการดำเนินงาน จากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค โดยเฉพาะเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นลำดับ รวมถึงเป็นพื้นที่พักอาศัยของชุมชนขนาดใหญ่ และเป็นจุดพักของนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปยังสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินชีวิต วิถีชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อพฤติกรรมการอุปโภคและบริโภคทำให้เกิดปริมาณของเสีย ของเหลือใช้ และขยะมูลฝอยประเภทต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับการจัดการขยะมูลฝอยที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างทันท่วงที การดำเนินการจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย เป็นบริการสาธารณะที่หน่วยราชการ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ให้บริการประชาชน การกำจัดขยะมูลฝอยสิ่งปฏิกูล ทั้งนี้การกำจัดขยะมูลฝอยในปัจจุบันใช้รูปแบบของการใช้ บ่อฝังกลบ โดยที่ผ่านมาไม่สามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้นต่อวันได้ และยังก่อให้เกิดปัญหามลภาวะตามมา เกิดปัญหาน้ำชะขยะจากการทับถมและหมักหมมของขยะ สู่น้ำใต้ดินปะปนกับน้ำบ่อน้ำบาดาล คูคลอง ซึ่งเป็นอันตรายต่อคน สัตว์ รวมถึง พืชผลทางการเกษตร เกิดมลภาวะของกลิ่น ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ ทำลายสุขภาพ จึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ให้เกิดความยั่งยืนโดยการจัดทำโครงการ “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงาน” และ “สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย” ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับ
ประชาชนจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องจัดเวที เพื่อรับฟังข้อห่วงกังวลของพี่น้องประชาชนก่อนเริ่มดำเนินการ ดังกล่าว

ภาพ/ข่าว นิราช/นันฐพล/พิชญ์ฐญา ทิพย์ศรี
พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก