อพท. ดัน ‘สุโขทัย’ ติดลมบน ‘เมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์’

อพท. ดัน ‘สุโขทัย’ ติดลมบน ‘เมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์’

—————————————–
อพท. ผลักดัน “สุโขทัย” ขึ้นเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน เน้นชุมชนได้ประโยชน์ มีรายได้และมีส่วนร่วม ตอกย้ำการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก ปีนี้เตรียมเสนอ “ตำบลเมืองเก่า” ขึ้นแหล่งท่องเที่ยว TOP 100 พร้อมจัดทำหลักสูตร “เมืองสร้างสรรค์”บรรจุในแผนการเรียนการสอนเยาวชนในพื้นที่ เป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้โตกว่าร้อยละ 50
นายอนันต์ ชูโชติ ประธานคณะกรรมการ อพท. (บอร์ด) เปิดเผยว่า จากแผนการพัฒนาจังหวัดสุโขทัยให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประกอบกับในปี 2562 สุโขทัยยังได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ดังนั้น นับจากนี้ต่อไป อพท. จะต่อยอดการพัฒนาโดยมีเป้าหมายครอบคลุม 2 ประเด็นสำคัญ คือ การยกระดับเมืองและชุมชนให้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม และการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม
ในปีงบประมาณ 2564 สำหรับพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดสุโขทัย อพท. มีแผนดำเนินงาน ตลอดปีประกอบด้วย 1. การยกระดับสถานะความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวตำบลเมืองเก่า สุโขทัย โดยจะมุ่งเสริมความแข็งแกร่งด้านวัฒนธรรม 2. ลดผลกระทบทางลบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การศึกษาระบบนิเวศของอุทยานประวัติศาสตร์และชุมชนโดยรอบ เนื่องจากพบว่ามีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชุมชน และการศึกษาความเสี่ยงของคุณภาพอากาศในแหล่งท่องเที่ยว ทั้งค่าคาร์บอนที่ปล่อยจากยานพาหนะ และค่า PM 2.5 ซึ่งมีผลกระทบกับสุขภาพของชุมชนและนักท่องเที่ยว และ 3. การจัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะและการจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งหากพบประเด็นความเสี่ยงในด้านใด ก็จะนำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมประสานและขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยเป็นประธาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขในลำดับต่อไป
***ผลักดันตำบลเมืองเก่าขึ้น TOP 100***
ทั้งนี้การพัฒนาและการจัดการดังกล่าวเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของชุมชนและเพื่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดสุโขทัย เนื่องจากตำบลเมืองเก่าคือชุมชนที่อยู่โดยรอบของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดี การทำงานของ อพท. จึงต้องการ ให้พื้นที่แห่งนี้มีการจัดการเป็นมาตรฐานระดับสากลและเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ และในปีงบประมาณ 2564 อีกเช่นกันที่ อพท. มีแผนนำเสนอ ตำบลเมืองเก่า เข้ารับเป็นสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (Sustainable Destinations Top100) โดยใช้เกณฑ์ Green Destination Standard พิจารณาตัดสิน ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับเป็น TOP 100 จะเข้ารับมอบรางวัล “แหล่งท่องเที่ยวที่มีการจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่ดีเยี่ยม 100 แห่งของโลก” ที่งาน ITB ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นการส่งเสริมการขายระดับโลก ที่เป็นเวทีการเจรจาซื้อขายแพคเกจการท่องเที่ยวที่มาจากทั่วโลก เท่ากับจะได้สร้างการรับรู้ให้กับผู้แทนการขายที่มาร่วมงาน และได้โปรโมต จังหวัดสุโขทัย แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนมาตรฐานระดับโลก ที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะวางแผนการเดินทางเข้ามาเที่ยวชมต่อไป

***ผลิตหลักสูตร “เมืองสร้างสรรค์” สอนเยาวชน***
ประธานบอร์ด อพท. กล่าวต่ออีกว่า ผลจากที่ “สุโขทัย” ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก อพท. ยังต่อยอดด้วยการจัดทำหลักสูตร “สุโขทัยเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน” ดำเนินการโดย อพท. 4 ร่วมมือกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ มีความเข้าใจ รู้สึกหวงแหน เห็นถึงคุณค่าหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของสุโขทัย สามารถผลิตงานหัตถกรรมได้ และสามารถสร้างสรรค์สู่อาชีพได้ ประกอบด้วย 9 หมวด ได้แก่ เครื่องสังคโลก ผ้าทอ เครื่องเงินเครื่องทองลายโบราณ งานจักสาน/ไม้แกะสลัก งานใบตอง อาหารพื้นบ้าน ลายสือยไทย ทัศนศิลป์และงานศิลปะพื้นบ้าน และดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน โดยบรรจุหลักสูตรดังกล่าวในการสอนตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัยจนถึงระดับอาชีวศึกษา ล่าสุดจับมือกับสถานศึกษา 47 แห่งในจังหวัด เพื่อนำร่องโครงการนี้
“นอกจากนั้น อพท. ยังจัดทำหลักสูตรระยะสั้น Sukhothai Art and Crafts Live and Learn เพื่อเรียนรู้ทำงานศิลปะและหัตถกรรม หลักสูตรนี้ออกแบบให้ชุมชนมีส่วนร่วมและมีรายได้เพิ่ม เพราะผู้เข้าอบรม จะเข้าพักในโฮมสเตย์ ฟาร์มสเตย์ โดย อพท. จะพัฒนารูปแบบกิจกรรม ส่งเสริมการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ความพร้อมด้านที่พัก การทดสอบกิจกรรม และประเมินผล โดยมีชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญางานหัตถกรรม และเกิดการสร้างรายได้ในชุมชน”
***ตั้งเป้าปี 64 รายได้โตกว่า 50%***
อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่จะปรับเปลี่ยนไปตามการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New normal) อพท. ยังได้เตรียมแผนการรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จบสิ้นลง ด้วยการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA (Safety and Health Administration) ให้แก่ชุมชนในพื้นที่สุโขทัย ล่าสุดมีชุมชนที่ได้รับมาตรฐาน SHA แล้วรวม 12 แห่ง และในระหว่างที่รอการฟื้นตัวนี้ อพท. ยังได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกของชุมชนบนแพลตฟอร์ม Smart DASTA
และแอพพลิเคชั่นออนไลน์ ในช่องทางต่างๆ รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าปี 2564 ชุมชนในพื้นที่พิเศษจังหวัดสุโขทัยจะสามารถสร้างจากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เป็น 17.3 ล้าน เติบโตกว่าร้อยละ 54 จากปี 2563 ซึ่งชุมชนในพื้นที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 11.2 ล้านบาท

กิตติ พรดวงจันทร์สุโขทัย0821632939