พะเยา เปิดโครงการป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” สถานีวนวัฒนวิจัยแม่กา จังหวัดพะเยา..
พะเยา เปิดโครงการป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” สถานีวนวัฒนวิจัยแม่กา จังหวัดพะเยา..
วันที่ 9 ก.ย. 62 นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดโครงการ ป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” สถานีวนวัฒนวิจัยแม่กา จังหวัดพะเยา โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพะเยา ร่วมกับ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) มหาวิทยาลัยพะเยา เทศบาลตำบลแม่กา เทศบาลเมืองพะเยา สถานีตำรวจภูธรแม่กา และชุมชนรอบพื้นที่ป่าร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้น ณ บริเวณแปลงผลิตเมล็ดไม้สัก ด้านหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ดำเนินโครงการป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” ที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้แนวทางในการดำเนินโครงการฯ ทั่วประเทศ โดยใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่เป็นพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกต้นไม้ที่ตั้งอยู่ในเมืองหรือใกล้เมือง โดยรัฐร่วมมือกับ ท้องถิ่นชุมชนดำเนินการในลักษณะของพื้นที่สาธารณะ ให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา เข้ามาใช้ประโยชน์ อาทิ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ศึกษาธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาป่าไม้ เป็นต้น
โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ ประกอบด้วย การวิ่ง Forest Walk Rally ระยะทาง 500 เมตร รอบพื้นที่ป่า กิจกรรมแสดงนิทรรศการให้ความรู้ด้านป่าไม้ พิธีบวชป่า และการซ้อมดับไฟไปป่าจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงราย โอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้ปลูกต้นรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 อีกด้วย
สำหรับสถานีวนวัฒนวิจัยแม่กา จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ประมาณ 2,450 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา และบางส่วนอยู่ในเขตอำเภองาว จังหวัดลำปาง หน่วยงานตั้งอยู่ในพื้นที่ของเทศบาลตำบลแม่กา มีพื้นที่ที่จัดให้เป็นป่าในเมือง เนื้อที่ 200 ไร่ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนล้อมรอบ อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยพะเยา มีหอพัก และชุมชนล้อมรอบ มีความสะดวกต่อการเข้าถึงของประชาชน โดยในอนาคตป่าในเมืองแห่งนี้ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้จากการมาเดิน-วิ่ง ออกกำลังกาย ศึกษาความรู้ด้านป่าไม้ และอาจมีการพัฒนาเป็นตลาดประชารัฐแบบล้านนาต่อไป