โฆษกกองทัพภาคที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวครั้งที่ 79

โฆษกกองทัพภาคที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวครั้งที่ 79

วันที่ 9 เมษายน 2563 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 79 ณ ห้องประชุม กองบังคับการกรมทหารราบที่ 4 ค่ายจิรประวัติ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันโท ทรงสิทธิ์ รอดสการ รองโฆษกกองทัพภาคที่ 3 / กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ พร้อมทั้งได้พาเยี่ยมชมการจัดทำหน้ากากอนามัยแบบผ้า สมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา กรมทหารราบที่ 4 เพื่อแจกจ่ายให้แก่กำลังพลและครอบครัว โดยมีหัวข้อสำคัญในการแถลงข่าว ได้แก่ “สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ” ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้.-
ตามที่ประเทศไทย ได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและคุณภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ นั้น
กองทัพภาคที่ 3 และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาและร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในการลดปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนืออย่างจริงจัง ซึ่งมีการดำเนินการในห้วงที่ผ่านมา ดังนี้.-

1. การออกประกาศจังหวัด สำหรับมาตรการห้ามเผา ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ขณะนี้ออกประกาศเขตห้ามเผาเด็ดขาดแล้ว จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่
1) จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศเขตห้ามเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 10 มกราคม – 30 เมษายน 2563
2) จังหวัดแพร่ ประกาศเขตห้ามเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2563
3) จังหวัดน่าน ประกาศเขตห้ามเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2563 4) จังหวัดเชียงราย, พะเยา, ตาก, ลำพูน และลำปาง ประกาศเขตห้ามเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2563
5) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกาศเขตห้ามเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2563
6) จังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ประกาศเขตห้ามเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2563
7) จังหวัดสุโขทัย และอุทัยธานี ประกาศเขตห้ามเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 1 – 29 กุมภาพันธ์ 2563
8) จังหวัดกำแพงเพชร ประกาศเขตห้ามเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2562 – 1 มีนาคม 2563
9) จังหวัดอุตรดิตถ์ ประกาศเขตห้ามเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 30 เมษายน 2563
2. ได้ดำเนินการทางมาตรการทางด้านกฎหมาย ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยจับกุมผู้กระทำความผิดไปแล้ว กว่า 1,391 ราย
3. ได้มีการจัดชุดปฏิบัติการในการดับไฟป่า โดยใช้กำลังพลของกองทัพภาคที่ 3 รวมทั้งสิ้น 147 ชุดปฏิบัติการ 1,155 นาย ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ และอีก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้เตรียมชุดดับไฟป่าไว้อีก 28 ชุด จำนวน 280 นาย
4. ได้รับการสนับสนุนอากาศยาน (ฮท.72) จำนวน 1 เครื่อง จากกองทัพบก ในการปฏิบัติภารกิจลาดตระเวน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563
5. ได้รับการสนับสนุนอากาศยาน (ฮ.ปภ.32) จำนวน 1 เครื่อง จากกรมป้องกันและบรรเทา
สาธารณภัย ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อปฏิบัติการทิ้งน้ำดับไฟป่า โดยได้ปฏิบัติการไปแล้วกว่า
225 เที่ยว จำนวนปริมาณทิ้งน้ำกว่า 775,000 ลิตร
6. ได้รับการสนับสนุนอากาศยาน (ฮท.17) จำนวน 1 เครื่อง จากกองทัพบก ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 เพื่อปฏิบัติการทิ้งน้ำดับไฟป่า โดยได้ปฏิบัติการไปแล้วกว่า 106 เที่ยว จำนวนปริมาณทิ้งน้ำกว่า 371,000 ลิตร
7. ได้รับการสนับสนุนอากาศยานลำเลียงแบบที่ 2ก (BT-67) จากกองทัพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563 เพื่อปฏิบัติการโปรยน้ำสร้างความชุ่มชื้นลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 23 เที่ยวบิน จำนวนปริมาณทิ้งน้ำกว่า 69,000 ลิตร
8. ได้รับการสนับสนุนอากาศยาน (AU-23) Peacemaker จำนวน 1 เครื่อง จากกองทัพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เพื่อปฏิบัติภารกิจการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
9. ได้รับการสนับสนุนชุดอากาศยานไร้คนขับ (UAV) จำนวน 1 ชุด จากกองทัพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อปฏิบัติภารกิจเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และกำหนดจุด Hotspot
10. ได้มีการทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง

เป็นไปตามโครงการและ ตามแผนงาน ทั้ง 3 ขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคลองกับสถานการณ์อยู่เสมอ เช่น ชุดรณรงค์ป้องกันไฟป่าและหมอกควันของทุกหน่วยงาน ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2562 โดยการเข้าพบปะประชาชน, การประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าว จำนวน 8,176 แห่ง, วิทยุชุมชน จำนวน 439 แห่ง, เครื่องบินกระจายเสียง Peacemaker, จอ LED ขนาดใหญ่ กว่า 29 จุด, อักษรวิ่ง ทางช่อง NBT กว่า 204 ครั้ง และสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากชมรมร่มบินเชียงใหม่, ทีมโดรนอาสาเชียงใหม่ และภาคประชาชน ในการสนับสนุนการชี้จุดการเกิดไฟป่า จึงทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้จึงขอขอบคุณทีมงานดังกล่าว มา ณ ที่นี้
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนและถาวรได้นั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหา โดยจะต้องประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เกิดจิตสำนึกมีความรักและหวงแหนป่าไม้ในบ้านเกิด รวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนต้องมีการวางแผนในให้เป็นระบบแบบแผนตามลำดับขั้นตอนได้อย่างมั่นคงและทันถ่วงที