ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(ศรชล.) ชี้แจงกรณี“ลูกเรือไทย ถูกนายจ้างไทยทอดทิ้งกลางทะเลโซมาเลีย”

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(ศรชล.) ชี้แจงกรณี“ลูกเรือไทย ถูกนายจ้างไทยทอดทิ้งกลางทะเลโซมาเลีย”

วันนี้(7 สิงหาคม 2562) เวลา 15.00 น. พลเรือโทรณภพ กาญจนพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธการ ศรชล. ชี้แจ้งกรณี “ลูกเรือไทย ถูกนายจ้างไทยทอดทิ้งกลางทะเลโซมาเลีย” ว่า
ตามรายงานข่าวกรณีลูกเรือไทย ถูกนาย
จ้างไทยทอดทิ้งกลางทะเลโซมาเลีย” นั้น สรุปได้ดังนี้ เรือที่อยู่ในข่าว ชื่อ WADANI 1 ซึ่งกรมเจ้าท่าตรวจสอบแล้วว่า เจ้าของเรือได้ขายเรือดังกล่าวให้กับเจ้าของเรือชาวอิหร่าน
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 และกรมเจ้าท่าได้เพิกถอนทะเบียนเรือไทยเรียบร้อยแล้ว และกรมประมงได้ตรวจสอบฐานข้อมูลเรือประมงแล้ว ไม่อยู่
ในบัญชีรายชื่อเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ดังนั้น โดยสถานะทางกฎหมายเรือดังกล่าวไม่ใช่เรือไทย ขณะนี้จอดเทียบท่าอยู่ที่เมืองโบซาโซ (Bosasso) อย่างไรก็ดี เรือลำดังกล่าว อยู่ในกิจการทำประมงในน่านน้ำโซมาเลีย และส่งสินค้ากลับมายังประเทศไทย ซึ่งการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำดังกล่าว กรมประมงมีอำนาจและกลไกการตรวจสอบไม่ให้เป็นสินค้าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมาย แม้โดยสถานะทางกฎหมายเรือลำดังกล่าวไม่ใช่เรือไทย แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทย เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไทยที่ทำงานบนเรือขณะอยู่ในทะเล
เมื่อทราบเหตุ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. ได้แจ้งศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ซึ่งได้มอบหมายให้นายทหารประสานงานของกองทัพเรือประจำกองเรือเฉพาะกิจผสม CTF151 มีที่ตั้งอยู่ ณ ราชอาณาจักรบาห์เรน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้ทราบว่า CTF-151 มีเครื่องบินตรวจการณ์แบบ JN41 ของ กองทัพเรือญี่ปุ่น ขึ้นทำการบินลาดตระเวน โดยมีเส้นทางบินห่างประมาณ 30 – 40 ไมล์ จากเมือง Bosaso และนายทหารประสานงานฯ ได้ร้องขอกองกำลังทางเรือสหภาพยุโรป (EUNAVFOR) ใช้เครื่องมือดักรับสัญญาณช่วยเหลือทางทะเล หรือสัญญาณวิทยุขอความช่วยเหลือ ซึ่งอาจเข้าไปทำการ
ช่วยเหลือโดยทันที แต่จากการตรวจสอบทราบว่าเรือประมง WADANI 1 จอดเทียบท่าเรือของโซมาเลีย ในเบื้องต้นจึงคาดว่ายังไม่มีสถานการณ์ที่เป็นภัยอันตรายร้ายแรง
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของ ศรชล. ได้สนทนากับลูกเรือ WADANI 1 กลุ่มที่ขอกลับบ้าน 17 คน ในการให้ความช่วยเหลือ และประเมินว่าขณะนี้ยังไม่มีอันตรายร้ายแรงที่จำเป็นต้องแทรก
แซงโดยทันที การปฏิบัติโดยทั่วไปจึงยังต้องดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์ทราบว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนย่า (นายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูต) ได้ประสานงานเพื่อให้การช่วยเหลือลูกเรือประมงดังกล่าว และได้รับการตอบรับจากบุคคลระดับผู้นำของรัฐในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว และจากการเฝ้าฟังอย่างใกล้ชิดทราบว่า ลูกเรือได้รับเสบียงและน้ำเพิ่มเติมแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงการต่างประเทศ กำลังเตรียมการเพื่อดูแลการเดินทางกลับของลูกเรือ โดยประสานงานกับองค์การเพื่อการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ (International Organization for Migration) ทั้งนี้ คาดว่าลูกเรือดังกล่าวจะสามารถเดินทางกลับได้ภายในปลายสัปดาห์นี้
สำหรับกองเรือเฉพาะกิจผสม CTF151 นั้น ไทยได้เคยส่งเรือ อากาศยาน และกำลังพลเข้าร่วมปราบปรามโจรสลัด และคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทย ถึง 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2553 และ พ.ศ.2554 และยังปฏิบัติหน้าที่ผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจผสม CTF151 ในกองกำลังผสมทางทะเลของนานาชาติ” (Combined Maritime Force : CMF) เมื่อปีพ.ศ.2555 อีกด้วย
ซึ่งการส่งกำลังเข้าร่วมในระดับนานาชาติเช่นนี้ มีผลทำให้ไทยสามารถประสานการขอความช่วยเหลือได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จะร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย จะได้แจ้งให้นายทหารประสานงาน ติดตามความเคลื่อนไหวของเรือต่อไป

นิราช ทิพย์ศรี/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน
ภาพ/ข่าว : ประชาสัมพันธ์ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)