เทศกาลปอยส่างลองประเพณีของชาวไทใหญ่

เทศกาลปอยส่างลองประเพณีของชาวไทใหญ่
เทศกาลปอยส่างลอง ประเพณีของพี่น้องชาวไทใหญ่ เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาลสมัยปู่ย่าตาทวด ที่เคยยึดถือปฏิบัติกันมา

จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะความร่วมแรงร่วมใจสมานฉันสามัคคีภายในหมู่บ้านและตำบล โดยจะใช้งบประมาณของแต่ละครัวเรือนที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีบุตรชายอายุครบ 10 – 17 ปีบริบูรณที่จะเข้ามาบวชเป็นสามเณรอยู่ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานราชการที่จะมาสนับสนุนด้านงบประมาณเหมือนปัจจุบัน คำว่า ส่างลอง เป็นภาษาพูดหรือเรียกขานของกลุ่มชาติพันธ์ไทใหญ่ ( คนไต ) และคำว่าลูกแก้ว เป็นภาษาพูดหรือเรียกขานของกลุ่มชาติพันธ์พื้นเมือง ( คนเมือง ) หรือบวชลูกแก้ว แทนคำว่า “-ข่ามส่างลอง “ ของกลุ่มพี่น้องชาติพันธ์ ไทใหญ่ (คนไต)
ด้วยคณะศรัทธาตำบลแม่เงา องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เงา องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาวัฒนธรรมตำบลแม่เงา ได้ดำเนินการจัดงานประเพณีปอยส่างลองประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 29 – 1 เมษายน 2566 ณ วัดต่อแพ ตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอนจำนวน 23 องค์ เพื่อให้บุตรหลานของตนเองได้ศึกษาพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ของชาวไทใหญ่ ( คนไต )ไว้ให้อยู่คู่เมืองแม่ฮ่องสอนสืบต่อไป หลังจากที่ผ่านพ้นจากโรคระบาดติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 ช่วงสองปีที่ผ่านมา ชาวบ้านก็ได้เก็บออมทรัพย์ไว้เพื่อมาทำบุญใหญ่ ในรอบ 2 ปี ทุกคนต่างแสดงถึงความพึงพอใจนุกสนานที่ได้จัดงานในครั้งนี้
โดยภาคเช้าตั้งแต่เวลา 05.00 น.จัดให้มีการแต่งองค์ทรงเครื่องเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดาเป็นเครื่องทรงเจ้าส่างลอง จะประดับประดาด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่ต่างสีสันและเครื่องทองอย่างสวยสดงดงามสวมใส่ชฎาที่ทำด้วยช่างฝีมือประจำหมู่บ้านแววระยิบระยับ เมื่อเปลี่ยนองค์ทรงเครื่องเรียบร้อยแล้วส่างลองทุกองค์นั่งคุกเข่าเพื่อขอขมา – บูชาพระรัตนตรัย รับศีล 5 จากประธานสงฆ์ แล้วจะมีผู้นำ(นายหัวหมู่)ที่ได้รับแต่งตั้ง จะนำ ขบวนไปกราบไหว้ขอขมาต่อสิ่งศักดิ์ ตามจุดต่างๆของหมู่บ้าน และพระผู้ใหญ่ ตลอดถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เช่นนายอำเภอฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

โดยส่วนใหญ่แล้วงานปอยส่างลอง หรือ งานบวชลูกแก้ว จะจัดกันไม่ต่ำกว่า 3 วัน แบบต้นๆ แต่ถ้างานใหญ่มีระดับก็จัดการกัน 5 วัน 7 วัน โดยวันรองวันสุดท้ายจะจัดรูปขบวนแห่เครื่องไทยธรรม สัมภาระเครื่องนอน หมอนฯและเครื่องอัฐบริขาร ไปตามถนนต่างๆภายในหมู่บ้าน มุ่งหน้าสู่บริเวณวัด แล้วก็เวียนประทักษิณรอบองค์พระเจดีย์ หรือโบสถ์จำนวน 3 รอบผู้เข้าร่วมขบวนจะแต่งกายด้วยชุดชาติพันธ์อย่างครบเครื่อง บ้างก็เดินเต้นกันอย่างสนุกสนานตามขบวน บรรดาฆ้องกลองก้นยาว ของแต่ละชุดก็ตีประชันกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งตามจังหวะของประเพณีปอยส่างลอง ๆจะมีมากที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยส่วนใหญ่จะจัดในพื้นที่หมู่บ้านตามชนบทส่วนตามจังหวัดต่างๆหรือที่ส่วนกลางก็จะมีบ้างที่มีกลุ่มชาติพันธ์ไทใหญ่ (คนไต) อยู่อย่างกลุ่มก้อน.

เกียรติศักดิ์ รักสัตย์ / เกียรติยศ รักสัตย์ ทีมข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถ่ายภาพ – เรียบเรียง.