ผบ.ทร.ชมการฝึกยุทธ์การสะเทินน้ำสะเทินบก ทร. 64 แสดงศักยภาพทางทหาร! ภายใต้รหัสปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ด้ามขวาน”

นราธิวาส/ภาพ/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ

ผบ.ทร.ชมการฝึกยุทธ์การสะเทินน้ำสะเทินบก ทร. 64 แสดงศักยภาพทางทหาร! ภายใต้รหัสปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ด้ามขวาน”

เมื่อเวลา 07.30 น.วันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่บริเวณชายหาดค่ายจุฬาภรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในค่ายจุฬาภรณ์ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พลเรือเอกชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เดินทางพร้อมคณะฯ เพื่อรับชมการฝึกปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก กองทัพเรือ 64 ซึ่งกองทัพเรือจะจัดให้มีการฝึกกองทัพเรือเป็นประจำทุกปี เพื่อพัฒนากำลังพลและระบบยุทโธปกรณ์ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติการทางทหารในฐานะหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงทางทะเลของประเทศไทย ในการเตรียมกำลังให้เกิดความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศผ่านการฝึก ทั้งนี้กองทัพเรือได้กำหนดให้หน่วยกำลังรบในทุกระดับดำเนินการเตรียมความพร้อมในระดับหน่วยตามความเชี่ยวชาญเฉพาะของกิจที่ได้รับจนถึงการบูรณาการกำลังขนาดใหญ่เข้าด้วยกันเพื่อฝึกการปฏิบัติการ ภายใต้สถานการณ์การฝึกตามแผนป้องกันประเทศในแต่ละด้าน โดยกำหนดแนวคิดหลักอ้างอิงจากสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดไว้ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี ซึ่งนอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมของกำลังรบในการปฏิบัติการแล้ว การฝึกกองทัพเรือยังเป็นการทดสอบแผนการปฏิบัติระบบการควบคุมการบังคับบัญชาระบบการสื่อสารและระบบการส่งกำลังบำรุงในภาพรวมตลอดจนเป็นการทดสอบการปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพอีกด้วย
โดยผู้บัญชาการทหารเรือได้ชมการสาธิตการปฏิบัติการทางทหารในการปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกซึ่งจัดกำลังจากหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ อาทิ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือกองเรือยกพลขึ้นบก และยุทธบริการกองเรือยุทธการกองการบินทหารเรือกองเรือยุทธการ ภายใต้รหัสปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ด้ามขวาน” ซึ่งมีการปฏิบัติรวม 5 ขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นการวางแผน ขั้นการขึ้นสู่เรือ ขั้นการซักซ้อม ขั้นเดินทาง และขั้นการโจมตี ซึ่งจะมีการปฏิบัติในการเคลื่อนกำลังจากเรือสู่ฝั่ง ในครั้งนี้จะปล่อยคลื่นโจมตี ที่ระยะไกล พ้นขอบฟ้า ประกอบด้วยคลื่นโจมตีคลื่นที่ 1 และ 2 เคลื่อนที่ทางผิวพื้น ด้วยยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 8 คัน คลื่นที่ 3 เป็นคลื่นเรือระบายพลขนาดเล็กจำนวน 1 ลำ ส่วนคลื่นโจมตีคลื่นที่ 4 เป็นคลื่นโจมตี เคลื่อนที่ทางอากาศ ด้วยเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 4 เครื่อง โดยได้มีวางแผน และกำหนดพื้นที่ในการซักซ้อม ทั้งนี้การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก ในครั้งนี้ได้นำนโยบาย ของผู้บัญชาการทหารเรือ ในเรื่อง “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” มากำหนดเป็นกรอบในการฝึกในครั้งนี้

หลังจากนั้น พลเรือเอกชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร.กล่าวกับกำลังพลว่า การยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกถือเป็นการปฏิบัติการเชิงรุกทางทหาร และเป็นความโดดเด่นของกำลังทางเรือที่ดำเนินกลยุทธ์ในพื้นที่ชายฝั่งของข้าศึก ในประวัติศาสตร์ การยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกนับตั้งแต่แผนยุทธการกันลิโปลี่ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ใช้เรือเป็นหลักในการเคลื่อนย้ายกำลังพลขึ้นสู่ฝั่ง และได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมาทั้งในด้านยุทโธปกรณ์ การเคลื่อนย้ายกำลังและหลักนิยม สามารถกล่าวได้ว่าเป็นปฏิบัติการร่วมที่มีทั้งกำลังรบทางเรือ กำลังทหารนาวิกโยธิน และกำลังทางอากาศ เข้ามาปฏิบัติการร่วมกันอย่างหลากหลายในทางยุทธวิธี แต่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสำเร็จทางการยุทธ์ โดยมุ่งเน้นในการลดระยะเวลาและลดการสูญเสียกำลังให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด การปฏิบัติการยุทธ์ที่กล่าวมานั้นจำเป็นต้องอาศัยการวางแผน การประสานการใช้กำลังอำนาจในการโจมตีทุกมิติ เพื่อให้เกิดโมเมนตัมหรือความสามารถในการเคลื่อนที่ในการรบสูงสุด จึงนับได้ว่าการฝึกดังกล่าวนี้เป็นการฝึกที่ทดสอบขีดสมรรถนะของกำลังรบในทุกสาขาปฏิบัติการได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ

“สำหรับรายการฝึกในทุกรายการของกองทัพเรือ ผมให้ความสำคัญและเน้นย้ำอยู่เสมอว่า การฝึกคือการเตรียมความพร้อมขององค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธีของกำลังรบเพื่อให้มีความพร้อมในการป้องกันประเทศ การสร้างความชำนาญและความคุ้นเคยที่จะปฏิบัติการร่วมกันตั้งแต่ในยามปกติ จะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่น ต่อการปฏิบัติการในสถานการณ์จริง อันจะทำให้ลดข้อจำกัดจากการต่อต้านและภาวะกดดันได้เป็นอย่างมาก ในห้วงเวลาอันคับขันในพื้นที่การรบในดินแดนข้าศึกนั้นประสบการณ์และความชำนาญที่เกิดจากการฝึกฝนอย่างจริงจังจะส่งผลต่อการปฏิบัติทางยุทธวิธี ที่จะทำให้การปฏิบัติการสอดประสานรวมกันเป็นพลานุภาพที่เหนือกว่าฝ่ายข้าศึก และกลายเป็นจุดพลิกผันที่จะมีชัยชนะต่อข้าศึกในพื้นที่การรบได้อย่างแท้จริง” ผบ.ทร.กล่าว
สำหรับการฝึกปฏิบัติกรยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกในครั้งนี้สิ่งที่จะได้รับนอกเหนือจากขั้นตอนการประสานงานระหว่างหน่วยกำลังที่มีความหลากหลายมิติแล้ว ยังได้เห็นถึงข้อจำกัดต่างๆที่ถือเป็นบทเรียน และสามารถนำไปพัฒนาการฝึกให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนนำไปวางแผนจัดการกับยุทโธปกรณ์ต่างๆรวมทั้งปรับปรุงแนวความคิดตามหลักนิยมการปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกให้สามารถตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป