จังหวัดนราธิวาส จัดพิธีมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เพื่อส่งมอบแก่กลุ่มทอผ้าในจังหวัด นำไปผลิตผ้าตามภูมิปัญญาแต่ละท้องถิ่นต่อไป

นราธิวาส/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ

จังหวัดนราธิวาส จัดพิธีมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เพื่อส่งมอบแก่กลุ่มทอผ้าในจังหวัด นำไปผลิตผ้าตามภูมิปัญญาแต่ละท้องถิ่นต่อไป

วันที่ 1 มีนาคม 2565 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (ชั้นล่าง) ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า
นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และ นางสิริวิมล พงษ์อักษร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ แม่บ้านมหาดไทยทุกอำเภอ และประธานกลุ่มฯ /ผู้ประกอบการฯ ที่มีผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าฯ เข้าร่วมในพิธีฯ รวม 33 กลุ่ม

โดยมีนางสาวสุนีย์ มาหะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงานฯ พัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และผู้ประกอบการเข้าร่วมพิธีฯ

เมื่อวันเสาร์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทอดพระเนตรการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ จาก 14 จังหวัดภาคใต้ และการจัดนิทรรศการผ้าไทยโบราณ การย้อมสีธรรมชาติ และการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

การทอผ้าเกาะยอ ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแบบลายผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นของขวัญให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้า ตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ ทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง แสดงถึงความตั้งพระทัยมั่น ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน
นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียน ถวายความเคารพเบื้องหน้าฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระมหากรุณา โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ปวงข้าพระพุทธเจ้า ต่างชื่นชมในพระบารมีและสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อปวงพสกนิกร ตลอดระยะเวลาที่ใต้ฝ่าพระบาท ได้อุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย ทรงพระราชทานแบบลายผ้าชื่อลาย “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็น สิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ เกิดความเชื่อมั่นว่าความงดงามของผ้าไทยจะคงอยู่คู่กับสังคมไทย โดยได้พระราชทานพระอนุญาตให้ กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดการประกวดลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”
นับเป็นมิ่งมงคลยิ่งต่อการเริ่มต้นกิจกรรมการประกวดและทรงพระราชทานลายผ้าบาติก ๓ ลาย 1. “ผ้าบาติกลายพระราชทาน ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” 2. “ผ้าบาติกลายพระราชทาน ป่าแดนใต้” 3. “ผ้าบาติกลายพระราชทาน ท้องทะเลไทย” ที่พระองค์ได้แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรม จากภูมิปัญญา พื้นถิ่นในภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็นวิถีชีวิต และธรรมชาติของภาคใต้ ที่มีเอกลักษณ์พระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติกพระราชทานนี้ เพื่อพระราชทานให้กับช่างฝีมือบาติก เป็นของขวัญตอบแทนมิตรภาพ และความจริงใจ ที่ประชาชนชาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์ และทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ซึ่งปรากฏบ่อยครั้งในฉลองพระองค์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นั้นมีความหมายที่ดีและมีความงดงาม จึงทรงนำมาต่อยอดให้มี

ความร่วมสมัย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ของผลิตภัณฑ์ ด้วยเรื่องราวและความหมายชวนประทับใจเป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนเปรียบดัแสงสว่างแห่งวิถีความงดงามของอัตลักษณ์ไทย ส่งผ่านไปสู่พี่น้องประชาชนนำทางให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป
ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย ปวงข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมนำพระดำริ ในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ยกระดับผลิตภัณฑ์ ผ้าไทย ให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน และสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

จากนั้นนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นางสิริวิมล พงษ์อักษร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาสเชิญลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เพื่อมอบให้กลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 30 ราย ประกอบด้วยนายอำเภอหรือผู้แทน และประธานแม่บ้านมหาดไทยอำเภอหรือผู้แทน จำนวน 13 ราย ผู้ประกอบการประเภทผ้าเครื่องแต่งกายจังหวัดนราธิวาส จำนวน 17 ราย

นับเป็นความปลาบปลื้มของพสกนิกรชาวจังหวัดนราธิวาสอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงมีพระเมตตา ตลอดจนทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน