ก.แรงงาน ซ้อมอพยพหนีไฟ ประจำปี 66 ย้ำ สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย

ก.แรงงาน ซ้อมอพยพหนีไฟ ประจำปี 66
ย้ำ สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย

กระทรวงแรงงาน ซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟโดยจำลองสถานการณ์จริง ประจำปี 2566
มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย การอพยพคนและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ พร้อมย้ำให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงาน โดยเฉพาะในสถานประกอบกิจการที่มีอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และมีคนทำงานจำนวนมาก หากไม่มีการเตรียมการที่ดีเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียมากมายทั้งต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน การป้องกันมิให้เกิดเหตุสามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายทั้งในเรื่องของการประเมินความเสี่ยง การตรวจสอบซ่อมแซมอุปกรณ์ การฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟอย่างสม่ำเสมอ กระทรวงแรงงาน เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 จึงได้จัดให้มีการฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟขึ้น โดยการจำลองสถานการณ์จริงเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการฝึกซ้อมหนีไฟให้แก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน รวมทั้งประชาชนผู้ที่มาติดต่อราชการ ตลอดจนเป็นแบบอย่างให้กับสถานประกอบกิจการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา และหน่วยงานราชการอื่น ๆ ด้วย

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ได้กำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างทุกคน ฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟพร้อมกัน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จึงขอให้สถานประกอบกิจการและหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอป้องกันไม่ให้เกิดเหตุและลดความเสียหายและความสูญเสียหากเกิดเหตุได้ สถานประกอบกิจการหรือหน่วยงานใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือกองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่วนแยกตลิ่งชัน โทรศัพท์ 0 2448 9128 – 39 สำหรับหน่วยงานราชการทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ขอให้นำแนวทางการดำเนินการดังกล่าวไปใช้ในการกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยในหน่วยงานตนเอง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่มาติดต่อราชการ ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand ต่อไป