การดูแลรักษาเพื่อให้ได้ลำไยคุณภาพ(ในฤดู)

การดูแลรักษาเพื่อให้ได้ลำไยคุณภาพ(ในฤดู)
นายนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางกรมส่งเสริมการเกษตรและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาคุณภาพลำไย พร้อมนี้ได้สรุปองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำไปปรับใช้ในการปฏิบัติดูแลรักษาลำไยเพื่อให้ได้คุณภาพ โดยมี 13 ขั้นตอนการที่ควรปฏิบัติ ดังนี้
ระยะที่ 1 ช่วงเตรียมต้น(กันยายน-ตุลาคม)

 

 


ขั้นตอนที่ 1- การตัดแต่งกิ่ง เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เปิดกลางทรงพุ่มให้รับแสงสว่างมากขึ้น คลุมโคนต้นด้วยใบลำไยที่ตัดทิ้ง
ขั้นตอนที่ 2.- แตกใบอ่อนครั้งที่ 1 ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ต้นละ 10 กิโลกรัมและใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 ร่วมกับ 15-15-15 และ 0-0-60 (ช่วงแตกใบครั้งที่ 1) สัดส่วน 1:1 :1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น
***ในระยะนี้ให้ระวังโรคและแมลง ได้แก่ ไรสี่ขา เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งและโรคพุ่มไม้กวาด
ระยะที่ 2 ช่วงก่อนออกดอก(พฤศจิกายน-ธันวาคม)
ขั้นตอนที่ 3 – ขั้นตอนที่ 4 – แตกใบอ่อนครั้งที่ 2 จนถึงใบแก่สมบูรณ์ ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง สารป้องกันกำจัดเชื้อราและฮอร์โมนบำรุงใบ และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 ร่วมกับ 15-15-15 และ0-0-60 (ช่วงแตกใบครั้งที่ 2) อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น พร้อมทั้งให้ปุ๋ย สูตร 0-52-34 ใช้อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทางใบ
***ในระยะนี้ให้ระวังโรคและแมลง ได้แก่ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งและโรคพุ่มไม้กวาด
ระยะที่ 3 ช่วงออกดอก(มกราคม-กุมภาพันธ์)
ขั้นตอนที่ 5 – ขั้นตอนที่ 6 – แทงช่อดอก – ดอกบาน ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เลี้ยงแมลงผสมเกสร งดพ่นสารเคมี ระยะดอกบาน และให้ปุ๋ยทางดิน ครั้งที่ 1 สูตร 46-0-0 ร่วมกับ 15-15-15 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น พร้อมทั้งให้ปุ๋ยธาตุรองและอาหารเสริม
***ในระยะนี้ระวังโรคและแมลง ได้แก่ แมลงค่อมทอง หนอนม้วนใบ เพลี้ยไฟ
ระยะที่ 4 ช่วงติดผลและปรับปรุงคุณภาพ(มีนาคม-กลางเดือนมิถุนายน)
ขั้นตอนที่ 7 – ช่วงติดผล เพิ่มปริมาณการให้น้ำ ป้องกันผลแกรนและผลร่วง พร้อมให้ปุ๋ยทางใบ สูตร 13-0-46 0-52-34 และ 46-0-0
ขั้นตอนที่ 8 – ปรับปรุงคุณภาพ – ผลช่วงต้น เพิ่มปริมาณการให้น้ำให้เพียงพอ(เมษายน ต้องการน้ำมากสุด) ให้ปุ๋ยทางดิน ครั้งที่ 2 สูตร 46-0-0 ร่วมกับ 15-15-15 และ 0-0-60 สัดส่วน 1:1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น และให้ปุ๋ยทางใบ สูตร 13-0-46 , 0-52-34 และ 46-0-0
ขั้นตอนที่ 9 – ตัดแต่งช่อผล – ผลช่วงกลาง กรณีติดผลดก ตัดแต่งช่อผลให้เหลือ 40-60 ผล และตัดช่อผลผลเล็กออก รวมทั้งให้ปุ๋ยทางดิน ครั้งที่ 3 สูตร 46-0-0 ร่วมกับ 15-15-15 และ 0-0-60 ช่วงนี้กำจัดวัชพืชในแปลง เพื่อทำลายแหล่งอาศัยแมลง
ขั้นตอนที่ 10 – ผลช่วงปลาย ให้ปุ๋ยทางใบ สูตร 13-0-46
***ในระยะนี้ระวังโรคและแมลง ได้แก่ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย มวนลำไย ผีเสื้อเจาะผลไม้ ผลแตก โรคพุ่มไม้กวาด ผลลาย
ระยะที่ 5 ช่วงเก็บเกี่ยว(กลางเดือนมิถุนายน – สิงหาคม)
ขั้นตอนที่ 11 – ผลช่วงปลายใกล้เก็บเกี่ยวก่อน 30 วัน ให้น้ำสม่ำเสมอ(หากฝนทิ้งช่วง) ให้ปุ๋ยทางดิน สูตร 0-0-60 , 13-13-21 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น ก่อนเก็บเกี่ยว 30 วัน เพื่อให้ผลพัฒนาคุณภาพ
ขั้นตอนที่ 12 – เก็บเกี่ยวผลผลิต เก็บเกี่ยวผลใหญ่ ผิวเรียบ รวบรวมผลผลิตและคัดเกรด บรรจุตะกร้า/หีบห่อ เตรียมจำหน่าย
***ในระยะนี้ระวังโรคและแมลง ได้แก่ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ผีเสื้อเจาะผลไม้ ผลแตก ผลลาย
ขั้นตอนที่ 13 – หลังการเก็บเกี่ยว เก็บตัวอย่างดิน ส่งวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ก่อนปรับปรุงบำรุงดิน และตัดแต่งกิ่ง
เกษตรกรสามารถสอบติดต่อถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มส่งเสริมวิชาการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่ โทร.053-908653 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้าน